[ Home ]



+ รายงานทริป

+ รูปหน้า 1
+ รูปหน้า 2
+ รูปหน้า 3
+ รูปหน้า 4

+ รูปหน้า 5


 

 


สุวรรณภูมิ แม่น้ำน้อย โป่งตะแบก
บูรพาออฟโรด 23-24 กพ. 45

มาอ่านคนที่ 3171 Truehits.net

          บันทึกการเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อฝนห่างฟ้า หลายคนคิดถึงความชุ่มชื้นกับสายธารใส ที่มักจะหาได้ไม่มากนัก ปลายฤดูหนาวเชกเช่นนี้ พวกเราได้ยินมาถึง รีสอร์ทรกร้างที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่าอุทธยานแห่งชาติแม่น้ำน้อย ... แดนสุวรรณภูมิ ที่น้อยคนนักที่จะรู้จักมักคุ้น แถบนี้โดยส่วนมากนักเดินทางจะรู้จักก็เพียงแต่ แม่น้ำน้อย กุยละว้า หรือ โป่งตะแบก เพียงเท่านั้นหารู้ไม่ว่ายังมีอีกดินแดนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในละแวกนั้นโดยมีเส้นทางที่สนุกสนานไม่แพ้กัน

      เหมือนเช่นเคยกับทริปเมืองกาญจนบุรีที่พวกเรามักจะไปพักผ่อน กับสายธารน้ำพุร้อนผาตาดก่อนที่จะเข้าป่ากันในวันต่อไป ชาวบูรพาในทริปนี้ประกอบไปด้วย พี่ณรงค์ (ม้ากระโดด), พี่แดง Terrano, พี่ธเนศกับ Kia พันธุ์ดุ, พี่เข้ม (กระรอกดำ), นานหนอน (เสือดำ), พี่กุย (กิ้งก่า) รวมกับพรรคพวกที่มาสมทบตอนเช้าคือ จิงโจ้ป่า หนูขาวกับหมึกแดง แมวเหมียว ของเวปมาสเตอร์ และ แขกรับเชิญอย่าง นายโท และเพื่อน Big ที่ทริปนี้ขับมาจากอุดรเพื่อร่วมทริปกับเราโดยเฉพาะ พี่ War เจ้าเก่า พี่มานพ กับ Jeep 4206 และ นายเนสที่มาพร้อมกับแมงหวี่คู่ใจ


        พวกเราใช้เส้นทาง บ้านลิ่นถิ่น เลาะแนวท่อก๊าซ ปตท ที่พาดผ่านแนว แปลงปลูกป่า เลาะลัดผ่านไร่สวน ของชาวบ้าน ฝุ่นละเอียดสีแดงดั่งเม็ดทราย ที่เกิดจากล้อ Mudterrain ทั้งหลายถูกขุดคุ้ยขึ้นมา เป็นม่านหมอก ที่ยากนัก ที่จะมองเห็นได้ไกลกว่า 3 หรือ 4 เมตร ถึงแม้จะใช้ความเร็ว ที่ช้าเพียงใดก็ตาม เส้นทางสู่หน่วยเขารวกวันนี้ต่างจากวันวานมากมายนัก เส้นทางใหม่ ๆ ที่ถูกถากถางเพื่อเข้าสู่ไร่สวนต่าง ๆ ได้สร้างความลำบากให้กับ พวกเรา พอสมควรในวันแรก มาถึงตอนนี้ทำให้ได้รู้สึกถึง ประโยชน์ของ เครื่องนำทางชั้นยอดอย่าง GPS ที่ให้การเดินทางของพวกเรา ถึงที่หมายได้โดยไม่ผิดเพี้ยน พวกเรามาถึง ด่านเขารวก ก็พอดีกับดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแผดกล้าในเวลาเที่ยงวัน พวกเราหยุดพักทานอาหารเที่ยงกันที่ด่านเขารวก หรือปากทางเข้าโป่งตะแบก ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันที่ขบวนที่ 2 ของพวกเราชาวบูรพา ได้มารวมตัวกันเป็นขบวนเดียวกัน ในที่สุด ผ่านด่านเขารวกมาทางหอดูไฟเพียงชั่วน้ำเดือด พวกเราก็เลี้ยวซ้ายเข้าทางป้าย น้ำตกโป่งกระดังงา ที่ได้ยินมาว่างดงาม เหมือนกัน แต่น่าเสียดายที่ทริปนี้ไม่ใช่ที่หมายของเรา ถึงแม้จะเข้าทางเดียวกันก็ตาม พวกเราใช้เส้นทางที่มีร่องลึกเป็นระยะ ๆ ที่ทอดตัวลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง ด้านขวามือเป็นแปลงปลูกป่าสัก ที่ขึ้นมาเป็นแถวเป็นแนวอย่างสวยงาม ส่วนด้านซ้ายเป็นป่าไผ่รวก ที่แผ่ก่อขยายเป็นหย่อม ๆ ท่ามกลางความแห้งแล้งในหน้าแล้งเช่นนี้ ร่องรอยการเผาไม้เพื่อเป็นแนวกันไฟ มีเห็นกันอยู่ทุกระยะ ๆ ถึงขนาดบางช่วงพวกเราต้องขับรถ เลียบกองไฟเลยก็มี เส้นทางนั้นเริ่มหนาทึบขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสีสันของแมกไม้ที่เริ่มเขียวขจี กับความชุ่มชื้นในที่ลุ่มริมสายธารน้ำไหลที่รอเราอยู่เบื้องล่าง เส้นทางที่วกไปวนมาผ่านแยกที่นับไม่ถ้วน ยังโชคดีที่พอมี ชาวบ้านให้ได้ฝากฝังถามทางกันอยู่เป็นระยะ ๆ จนทำให้พวกเราเริ่มที่จะมั่นใจยิ่งขึ้นว่าเรามาถูกทางก็เมื่อเส้นทางที่ถูกถากถางใหม่ ๆ นั้นพาเราผ่านรั้วไม้ระแนง ที่สร้างขึ้นไว้เหมือนเตือนจะบอกว่า ผืนป่านี้มีเจ้าของ ผ่านรั้วไม้ไผ่มาได้เพียง 300 เมตร พวกเราก็ต้องลงมาดูลายร่องล้อให้กันและกัน เมื่อต้องขึ้นเนินหักศอกที่มีช่องแคบให้เพียงแก้มล้อทั้งสองข้าง ได้วางเพียงเท่านั้น ถัดลงไปทางซ้ายมือเป็นไหล่เขาที่ทอดตัวลงไปหาสายน้ำใสที่ไหลขนาบเส้นทางแคบสายนี้ พวกเราผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ครบทุกคัน อย่างไม่มีปัญหาจนถึงจุดหมายปลายทาง

    ... ป้ายไม้เก่า ๆ ที่เขียนว่า แดนดิน สุวรรณภุมิ แขวนอยู่ในกระท่อมไม้ ที่ปลูกสร้างได้แปลกแยกจากลักษณะของชาวบ้านทั่วไป โต๊ะไม้ที่ทำจากซุงทั้งต้น ขอนไม้ที่ถูกนำมาทำเก้าอี้ หรือ เปลือกไม้ที่ถูกนำมาตกแต่งสถานที่เปรียบเสมือน บ้านหลังนั้นเป็นรีสอร์ท แห่งหนึ่งนั่นเอง จะผิดก็เสียแต่ว่า รีสอร์ทแห่งนี้ได้ถูกปล่อยให้ ชำรุดทรุดโทรม ขาดการบำรุงรักษา ให้สวยงาม เหมือนอย่างที่มันเคยเป็น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงความงดงามเสมอแม้ในยามแล้งก็คือสายน้ำที่ไหลอยู่ด้านล่าง ท่ามกลางต้นมะเดื่อ ที่ขึ้นอยู่ดาดเดื่อนริมสองฝั่งน้ำ บ้านพักที่ปลูกสร้างเป็นระยะ ทิ้งช่องว่างไม่ห่างกันมากนัก รวมทั้งบ้านพักหลังน้อยที่ปลูกสร้างเอาไว้ บนต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้สร้างสรรค์จินตนาการกับบ้านป่าพงไพรให้กับเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างพวกเรา

     ลุงขาว เจ้าของสถานที่ได้ต้อนรับขับสู้พวกเรา เป็นอย่างดีกับอะคันตุกะ กลุ่มใหญ่ที่เข้ามาโดยมิได้นัดหมาย พวกเราใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงก่อนค่ำในการดื่มด่ำธรรมชาติกันอย่างเต็มที่ เกือบทุกคนคลายความร้อนที่อบอ้าวกลางผืนป่าเมืองกาญฯ ด้วยการลงไป แช่ในสายน้ำเย็น ที่เปรียบเสมือนรางวัลของการบากบั่นเดินทางของพวกเรา แพไม้ไผ่ลำยาว เป็นเครื่องเล่นอีกชิ้นหนึ่งที่เด็ก ๆ ได้ล่องเล่นกันสนุกสนาน บรรดาแม่บ้านบูรพาก็ตระเตรียมอาหารการกิน สำหรับมื้อค่ำอย่างเต็มที่ เหมือนกับเรามา พักผ่อนในรีสอร์ทแถวชานเมืองที่มีบริการครบครันเลยทีเดียว ยามเย็นย่ำพร้อมกับอากาศที่เริ่มเย็นลงไปเรื่อย ๆ ของค่ำคืนนั้น มีสีสรรค์ให้กับ สุวรรรภูมิผิดเชกเช่นวันวาน ที่เงียบเหงาเหมือนทุกเมื่อเชื่อวัน เสียงกระเซ้า เย้าแหย่ เสียงบอกเล่าของการเดินทาง เสียงหัวเราะ ในมิตรภาพกับคนคุ้นเคยที่เป็นดั่งมนต์เสน่ห์ที่นำพวกเรามารวมกัน ท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาลำเนาไพร สายลมเย็นริมน้ำที่พัดผ่าน นำพาเรื่องราวความหลังของการเดินทาง ที่ถูกนำมาบอกเล่าอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย จนล่วงเลยเข้าสู่เวลาดึกดื่น ค่ำคืนนั้นกลุ่มผู้หญิงรู้สึกว่าจะครึกครื้นเป็นพิเศษ น้ำสีอำไพที่พร่องหายไปพร้อมกับเสียงเชียร์ เสียงหัวเราะ ที่กลบเสียงกลุ่มผู้ชายได้อย่างสนิทเลยทีเดียว ที่ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะเป็นเช่นนี้ ค่ำคืนนั้นผมนอนหลับไหล บนต้นไม้สูงที่ยื่นไปเหนือลำน้ำ พร้อมกับแว่วเสียงเพลงจากเพื่อน ๆ ที่ขับกล่อมผ่องไพรด้วยเสียงกลอง แผ่วเบา ที่ตีออกมาอย่างมีจังหวะจะโคน

     เสียง เด็กที่เล่นน้ำ เสียงตระเตรียมอาหารเช้า และเสียงแผ่วเบากับเพลงเพื่อชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวพื้นบ้าน ได้ปลุกผมขึ้นมาสำผัสกับอากาศ สดชื่นแจ่มใส ในยามเช้าวันถัดมา พวกเราทำความสะอาดสถานที่ ดูแลความเรียบร้อยก่อนออกมาจาก สุวรรณภูมิ ก็เมื่อรุ่งสาง ขบวนพวกเราย้อนทางเดิมกลับไปทางด่านเขารวก ก่อนเลี้ยวขวาเข้าไปในเส้นทางอีกหนึ่งตำนาน ที่มีนามว่า โป่งตะแบก

      ด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยวสลับร่องลึก ทำให้เช้าวันนี้เป็นเส้นทางที่ผิดไปจากวันวาน ร่องรอยถลอกของเปลือกไม้สองข้างทาง ที่มีให้เห็นเป็นระยะ บ่งบอกได้ว่าเส้นทางเส้นนี้จะเร้าใจขนาดไหนในยามฝนพรำ พวกเราใช้เวลาไม่นานนักก็ลงมาถึงสายน้ำ แม่น้ำน้อยที่ยังคงความสดชื่นแม้ในยามนี้ ระดับน้ำลึกประมาณ 60 เซ็นติเมตรได้หยุดขบวนเรากลุ่มใหญ่ไว้สองฝั่งฝากตลิ่ง ด้วยข้อจำกัดของศักยภาพของรถ เพื่อนเราบางคัน และเสบียงกรังที่หดหายทำให้พวกเราต้องปรึกษาหารือกันว่า จะเดินหน้าต่อหรือไม่ พวกเราลงความเห็นกันว่าจะหยุดขบวนกันเพียงเท่านั้นเพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย จะมีก็แต่เพียงพวกเราอีกกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่ง จัดขบวนเพื่อเข้าไปสำรวจเส้นทางโป่งตะแบกเส้นนี้ ลึกเข้าไปในราวป่า สภาพของป่าเริ่มเปลี่ยนไป ด้วยความดิบชื้นทีมีมากขึ้น แสงตะวันเริ่มรางเลือนด้วยยากนักที่จะทะลุส่อง ผ่านแมกไม้ที่เขียวขจีและแน่นหนาของสองฝั่งน้ำนั้นได้ พวกเราข้ามลำห้วยเดียวกันนั้นสลับไป สลับมา จนนับไม่ถ้วน ด้วย ระดับน้ำที่ลึก ขึ้นมาเรื่อย ๆ รวมกับเส้นทางที่ดูเหมือนจะวิ่งลัดเลาะไปตามลำธาร ทำให้พวกเราถึงกับติดใจ ในความสวยและท้าทายของเส้นทางนี้ พวกเราสำรวจลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาที่น่าจะย้อนกลับด้วยความเป็นห่วงถึงคนข้างหลัง แต่แล้วสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นในช่วงขากลับ เมื่อ นายเนส แขกรับเชิญของบูรพาทริปนี้ได้ลงผิดร่องทางริมสายน้ำลึกขนาดเอว ที่มีตลิ่งสูงชัน และเอียง เป็นบทอุปสรรคท้าทายให้กับทุกผู้นามที่ผันผ่าน .. คาริเบี้ยนสีขาวนั้นเมื่อลงผิดร่องสูงก็เกิดอาการ พลิก ตะแคง !!!! ลงขวางสายน้ำผืนนั้น โชคยังดีที่แรงส่งที่ลงมาจากเนินยาวนั้นทำให้การตะแคงของรถนั้น กระเด้งกลับขึ้นมาตั้งเหมือนเดิม ด้วยแรงส่งของรถที่ลงมาจากเนินยาว เปรียบเสมือนตุ๊กตาล้มลุกเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไร น้ำจำนวนมากก็ไหลเข้าสู่รถนาย เนส อย่างรวดเร็ว รวมทั้งถังน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีน้ำไหลเข้าไปเกือบครึ่งทางฝาถังน้ำมัน !!!!
Suzuki Caribian ของนาย เนสต้องถูก ม้ากระโดด ลากออกมาแก้ไขที่ลำห้วยสายแรกที่พวกเรากลุ่มใหญ่รอกันอยู่ น้ำที่ค้างอยู่ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง และจานจ่ายถูกคัดแยกออกมาจากน้ำมัน จนแก้ไขกลับมาดังเดิมได้ด้วยฝีมือ นายหนอน หรือหมอใหญ่ ผู้ชำนาญในเรื่องแมงหวี่ ??

   

     เวลาเย็นย่ำได้พาพวกเราออกมาที่ปั๊ม ปตท ลิ่นถิ่น โดยสวัสดิภาพทุกคน ท่ามกลางความคาใจ ในเส้นทางข้างหน้าของ โป่งตะแบกที่ซ่อนตัวลึกอยู่ข้างใน ก่อนจากกันพวกเราแวะ ทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร ชนบท ก่อนที่จะแยกย้ายกัน เมื่อเวลาอันสนุกสนาน ของพวกเรามาถึงที่สุด ผมขับรถบนเส้นทาง 323 ยามเวลาพลบค่ำ พร้อมแว่วเสียงพวกเรา จากวิทยุสื่อสารที่ไม่ขาดระยะ ถึงเรื่องราววันนี้ที่ประสบกันมา ... มีเสียงใครไม่รู้ แว่วขึ้นมาว่า พวกเราจะกลับมาอีก ในเวลาอันใกล้นี้ก่อนระดับน้ำแม่น้ำน้อยจะสูงขึ้นจนข้ามไม่ได้... รอก่อนนะ โป่งตะแบก .. พวกเราชาวบูรพา จะกลับมา


สำหรับทริปนี้ สวัสดีครับ
หนูขาว
27 กพ 45



Home | Bicycle | Offroad | Fishing | Radio Control | Stickerboard | Second hand | Member area
Copyright © 2000, www.WeekendHobby.com, All right reserved.

webmaster@hits.sahaunion.co.th