ธรรมนูญเครือข่ายผู้ปกครอง โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
actpn
จาก ACT-PN
58.9.116.22
อังคารที่ , 5/6/2555
เวลา : 22:33

อ่านแล้ว = 4310 ครั้ง
 เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งตรวจสอบกระทู้
 แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน ส่งหาเพื่อน

       คำนำ

เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ วันที่ 14 กันยายน 2553
ตามคำสั่งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่ 188 / 2553 โดย ภราดาชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียน และ
มีการดำเนินการประชุมครั้งแรก โดย ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม ท่านได้มาเปิดประชุมพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ
แก่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ยังได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนจาก คณะกรรมการสมาคมผู้ปกครอง
และครูโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โดยท่านนายกสมาคมคุณส่องแสง ปทะวานิช และคุณปัญจรีย์ จุลไกรอานิสงส์
อุปนายกสมาคม คนที่ 2 พร้อมด้วย มาสเตอร์จรัญ น้อยอิ่ม ได้ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกัน
เป็นเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เพื่อดำเนินกิจกรรมในระดับใกล้ชิดผู้ปกครอง
นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี




====================================

ระเบียบ สพฐ.
ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ว่าด้วยเครือข่ายผู้ปกครอง พ.ศ. 2551
เพื่อให้การบริหารและการจัดการเกี่ยวข้องกับเครือข่ายผู้ปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และข้อ 1 (3) (7) ของกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 จึงกําหนดวางระเบียบ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารและจัดการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง ไว้ดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยเครือข่ายผู้ปกครอง พ.ศ. 2551”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคําสั่งอื่นใด ที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 4. ระเบียบนี้ ใช้บังคับสําหรับสถานศึกษาสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดการศึกษา ช่วงชั้นที่ 3-4 สําหรับสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแตกต่างไปจากนี้ หากจะดําเนินการเครือข่ายผู้ปกครองให้ถือบังคับใช้ระเบียบนี้โดยอนุโลม
ข้อ 5. นิยามศัพท์ ในระเบียบนี้
“เครือข่ายผู้ปกครอง” หมายความว่า การรวมกันระหว่างผู้ปกครองนักเรียนในสถานศึกษาเดียวกัน เพื่อร่วมมือกับสถานศึกษาในการประกอบกิจกรรมด้านการพัฒนาการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน
“ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดา มารดา หรือ บิดา หรือ มารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจปกครอง หรือ ผู้ปกครองตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงบุคคลที่นักเรียนอยู่ด้วยเป็นประจํา หรือนักเรียนอยู่รับใช้การงาน
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา
ข้อ 6 วัตถุประสงค์ของเครือข่ายผู้ปกครอง
เพื่อการดําเนินงานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง
เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน
เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวคิด ระหว่างผู้ปกครอง ครู และนักเรียนในสถานศึกษา

ข้อ 7 คณะกรรมการ
คุณสมบัติของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองเป็น
(1) เป็น บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของนักเรียนปัจจุบัน
(2) ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะและต้องดูแลอุปการะนักเรียนที่แท้จริง
โครงสร้าง องค์ประกอบ และจํานวนของคณะกรรมการให้สถานศึกษากําหนดได้ตามความเหมาะสม
การพ้นจากตําแหน่งของกรรมการ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามที่ได้กําหนดไว้ในข้อ 7
(4) มติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาให้พ้นจากสภาพเป็นคณะกรรมการ กรณีที่พบว่าคณะกรรมการได้กระทําการส่อไปในทางเจตนาแสวงหา หรือได้มาซึ่งผลประโยชน์และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น
(5) สิ้นสุดวาระ
วาระการดํารงตําแหน่งของคณะกรรมการ ให้มีวาระคราวละ 1 ปี
ข้อ 8 บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ
(1) ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษา ด้านพัฒนาการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน โดยผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารสถานศึกษา
(2) ร่วมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างครูและผู้ปกครอง
(3) สนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษา
(4) เสนอข้อคิด ข้อเสนอแนะในการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนและสถานศึกษา
(5) ร่วมกับสถานศึกษา จัดให้มีการประชุม ระหว่างคณะกรรมการกับผู้ปกครองตามความเหมาะสม อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
(6) สรุปและรายงานผลการดําเนินงานของคณะกรรมการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในที่ประชุมใหญ่ของผู้ปกครองนักเรียน
ข้อ 9 ให้สถานศึกษาแต่งตั้งครูเป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการตามความเหมาะสม
ข้อ 10 ให้สถานศึกษาดําเนินการให้ได้คณะกรรมการโดยเร็ว อย่างช้าภายในภาคเรียนที่ 1 ของทุกปี
ข้อ 11 ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ
ข้อ 12 ให้สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาสนับสนุนและพัฒนาการดําเนินการของคณะกรรมการ
ข้อ 13 คณะกรรมการที่สถานศึกษาจัดตั้งขึ้นหรือมีอยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ดําเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ

ข้อ 14 ให้ผู้บริหารสถานศึกษากําหนดระเบียบ วิธีการ เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ 2551



(คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา)
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน







 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

แจ้งเพื่อเก็บขึ้นกระทู้พิเศษ คลิ๊กที่นี่แจ้งเพื่อนำขึ้นกระทู้พิเศษ
คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  

คำตอบที่ 1
       นโยบายเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
1. มุ่งหวังที่จะรวบรวมปัญหา ทรรศนะ ความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อช่วยเหลือ
แก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของบุตรหลาน
2. สร้างฐานข้อมูลของผู้ปกครอง และนักเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครอง
และนักเรียน
3. สรรหา และระดมสมองของผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพนักเรียนและถ่ายทอดความรู้
ประสบการณ์แก่นักเรียน
4. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี กับ ชุมชน
เพื่อโยงใยเป็นเครือข่ายชุมชนสัมพันธ์ ป้องกันยาเสพติค และช่วยกันแก้ไขพัฒนาชุมชนร่วมกัน
5. สรรหาตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามประกาศ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มุ่งมั่นในการสนับสนุน
การเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เพื่อดำรงความเป็นหนึ่งทางด้านวิชาการและ
ความเป็นทางเลิศทางการกีฬาของอัสสัมชัญธนบุรีตลอดไป
ธรรมนูญเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

หมวดที่ 1
ชื่อ
1. เครือข่ายผู้ปกครองใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี “
ชื่อย่อ ค.ป.อ.ส.ธ. ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Assumption College Thonburi Parents Network “ ชื่อย่อว่า “ ACTPN “
2. รูปลักษณ์เครื่องหมายเครือข่าย ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายเดียวกันกับ เครื่องหมายของ
โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และมีอักษรย่อภาษาอังกฤษ ACTPN อยู่ด้านล่าง


หมวดที่ 2
คำนิยาม
เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน คือ คณะบุคคลที่ประกอบขึ้นด้วย คณะของผู้ปกครองนักเรียน
โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในแต่ละชั้นเรียน ที่รวมตัวขึ้นมาเพื่อร่วมกันพัฒนาโรงเรียน และ สนับสนุนการเรียน
การสอนของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ตามสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติ พ.ศ. 2542


หมวดที่ 3
สมาชิกภาพ
3. สมาชิกภาพ
ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีเป็นสมาชิกสามัญของเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน
ตราบเท่าที่นักเรียนในปกครองดูแลมีสภาพเป็นนักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
4. สมาชิกกิตติมศักดิ์
ในอดีตเคยเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับโรงเรียน
อัสสัมชัญธนบุรี ด้วยคุณงามความดี และ โดดเด่น อาจได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของเครือข่าย
ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
หมวดที่ 4
ระเบียบและหน้าที่ของเครือข่าย

ระเบียบนี้เรียกว่า “ ระเบียบว่าด้วยการบริหารกิจกรรมเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียน
อัสสัมชัญธนบุรี
ระเบียบนี้ใช้ในการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายฯ ตั้งแต่ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553
5. คณะกรรมการประกอบด้วย
5.1. คณะกรรมการระดับห้อง 5 คน (เป็นอย่างน้อย) ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ
เหรัญญิก และประชาสัมพันธ์ โดยการคัดเลือกจากผู้ปกครองของแต่ละห้องเรียน
5.2. คณะกรรมการระดับชั้นประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์
โดยคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับห้องของชั้นเรียนนั้น ๆ ระดับห้องละ 2 คน ผู้แทนของระดับชั้น
ประกอบด้วยประธาน และเลขานุการของคณะกรรมการระดับห้องเรียน
5.3. คณะกรรมการระดับโรงเรียนประกอบไปด้วยคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 24 คน


5.4. การได้มาซึ่งคณะกรรมการระดับโรงเรียน ได้มาโดยคัดเลือกจากประธานและเลขานุการของแต่ละ
ระดับชั้นเรียนทั้งหมด จำนวน 24 คน แล้วมาคัดเลือก ประธาน รองประธานคนที่ 1 รองประธาน
คนที่ 2 เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ นายทะเบียน ปฏิคม และ
กรรมการ หรือตำแหน่งที่เห็นสมควรว่าควรจะมีเพิ่มเติมได้ กรณีที่ผู้แทนของระดับใดได้รับคัดเลือก
เป็นประธานเครือข่ายผู้ปกครอง ให้เลือกผู้แทนของระดับชั้นนั้นขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่างลงเพื่อให้
ครบจำนวน 24 คน ( ตามข้อ 3 )
5.5. คุณสมบัติของกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน
5.5.1. ประกอบอาชีพสุจริต มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่งที่แน่นอน
5.5.2. บรรลุนิติภาวะ และมีสถานภาพเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในปัจจุบัน
โดยชอบธรรมตามกฎหมาย
5.5.3. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคที่สังคมรังเกียจ
6. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน
6.1. ตาย
6.2. ลาออก
6.3. ขาดคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 5
7. วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการเครือข่าย
ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ทุกระดับมีวาระ 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคัดเลือก และ
สิ้นสุดในวันที่คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองชุดใหม่ได้รับคัดเลือก (โดยหมดวาระในวันประชุม
ใหญ่สามัญในปีถัดไป และจะต้องรักษาการจนกว่าจะได้คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองชุดใหม่
8. บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
8.1. ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนโดยผ่านความเห็นจากผู้บริหารสถานศึกษา
8.2. ร่วมสร้างสายใยเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและผู้ปกครอง
8.3. สนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษา
8.4. ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะต่อสถานศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโบชน์ต่อนักเรียน และ
สถานศึกษา
8.5. จัดทำทำเนียบนักเรียนและผู้ปกครองโดยละเอียดและส่งมอบสำเนาให้เลขานุการคณะกรรมการ
เครือข่ายผู้ปกครองในระดับชั้นเรียนและระดับโรงเรียน
8.6. คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองในระดับโรงเรียนจะต้องรวบรวมข้อมูลและกิจกรรมของแต่ละ
ระดับชั้นนำเสนอโรงเรียนเพื่อดำเนินการต่อไป
8.7. ให้สถานศึกษาแต่งตั้งครู-อาจารย์เป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการเครือข่ายฯ ในทุกระดับชั้น
9. เครือข่ายฯ ระดับโรงเรียนกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ระดับโรงเรียนทุกวัน
เสาร์ที่ 4 ของเดือน
10 . เครือข่ายฯ ระดับโรงเรียนจัดการประชุมใหญ่ คณะกรรมการเครือข่ายฯ ทุกระดับตามความเหมาะสม
อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
11. คณะกรรมการเครือข่ายฯ ทุกท่านจะต้องให้ความสำคัญต่อการประชุมทุกครั้ง
12. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
12.1. ประธาน หน้าที่เป็นประธานในการประชุมเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน เป็นผู้นำการบริหารและ
เป็นผู้กำหนดแผนงานในแต่ละปีของเครือข่ายฯ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามหน้าที่โดยปกติใน
ตำแหน่งประธาน
12.2. รองประธานคนที่ 1 หน้าที่ของรองประธาน คือเป็นประธานในที่ประชุมเครือข่ายฯ ประชุม
กรรมการเครือข่ายฯ และบริหารงานของเครือข่ายฯ แทนประธาน เมื่อประธานไม่อยู่หรือมิอาจ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ และปฏิบัติหน้าที่อื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับตำแหน่งรองประธานโดยปกติ
12.3. รองประธานคนที่ 2 หน้าที่บริหารเครือข่ายฯ แทนประธานหรือรองประธานคนที่ 1 ในเมื่อทั้ง
สองท่านไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
12.4. เลขานุการ หน้าที่ของเลขานุการ คือรวบรวมรักษาทะเบียน ทำเนียบสมาชิกเครือข่ายผู้ปกครอง
ส่งหนังสือ แจ้งกำหนดการประชุมของเครือข่ายฯและเป็นผู้จัดการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบ
แบบแผนของเครือข่าย จัดระเบียบวาระการประชุม จดบันทึกรายงานการประชุมและจัดงาน
สารบรรณเก็บรักษาเอกสารและการดำเนินงานของเครือข่ายฯ โดยทั่วไป เลขานุการระดับ
ห้องเรียนควรจัดส่งรายงานที่เหมาะสมส่งต่อให้กับคณะกรรมการเครือข่ายระดับโรงเรียน
โดยผ่านเลขานุการระดับชั้น และคอยติดตามรายงานจากเลขานุการระดับห้องเรียน และ
ปฏิบัติ หน้าที่อื่น ซึ่งตามปกติเป็นหน้าที่ของเลขานุการ
12.5. ผู้ช่วยเลขานุการ หน้าที่ของผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจทำการแทนเลขานุการเครือข่ายฯ
ในเมื่อเลขานุการเครือข่ายฯ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และคอยช่วยเหลือเลขานุการในการ
ดำเนินการประชุมและปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเลขานุการ ซึ่งปกติของผู้ช่วยเลขานุการ
12. 6. เหรัญญิก หน้าที่ของเหรัญญิก คือผู้รับผิดชอบการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของเครือข่ายฯ ต้อง
ทำบัญชีหลักฐานการเงินประจำเดือน และ ปีของเครือข่ายฯ พร้อมที่จะแสดงเมื่อมีการร้องขอหรือ
ต้องการรับทราบ คณะกรรมการและสมาชิกเครือข่ายฯ และมีอำนาจในการสรรหาอนุกรรมการ
จากสมาชิกมาช่วยงานด้านในการเงิน และ บัญชี
12.7. ปฏิคม หน้าที่ของปฏิคม คือ หน้าที่ต้อนรับ ควบคุมดูแลจัดสถานที่ และอำนวยความสะดวกใน
การประชุม และในกิจกรรมต่าง ๆ และอื่นตามหน้าที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการเครือข่ายฯ
12.8. ประสานงาน หน้าที่ของประสานงาน คือ หน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับทุกคนใน
คณะกรรมการเครือข่ายฯ ทุกเรื่อง ในการประชุม และในกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
จากคณะกรรมการ
12.9. ประชาสัมพันธ์ หน้าที่ของประชาสัมพันธ์ คือการทำการประชาสัมพันธ์ทั้งภายในภายนอกให้
ทราบถึงกิจกรรมของเครือข่ายผู้ปกครอง และแถลงข่าว ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงให้บุคคลภายนอก
เข้าใจถึงกิจกรรมของเครือข่ายฯ และประสานกิจกรรมของเครือข่ายฯ
12.10. ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ หน้าที่ คือ ช่วยเหลือประชาสัมพันธ์
12.11. นายทะเบียน หน้าที่ นายทะเบียน คือ จัดทำ บันทึก และ รักษาสมุดทะเบียนประวัติของสมาชิก
ทุกคน และส่งมอบให้เลขานุการ
หมวดที่ 5
การเงิน

13. เงินของเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน
13.1. เงินของเครือข่ายฯ ให้เหรัญญิกมีหน้าที่รักษาหรือนำฝากไว้ในธนาคาร หรือฝ่ายการเงินของ
โรงเรียน ที่คณะกรรมการบริหารเครือข่ายฯ ระดับโรงเรียนกำหนด
13.2. การจ่ายเงินทุกครั้งให้สั่งจ่ายเงินโดยมีการลงลายมือชื่อเหรัญญิก ร่วมกับกรรมการอย่างน้อยอีก
สองท่านที่ได้รับการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ ให้ยึดถือตามระเบียบของธนาคาร
และจะจ่ายได้ต่อเมื่อมีใบสั่งจ่าย ซึ่งลงนามโดยประธาน และ/หรือ เลขานุการจำนวน 2 ท่าน
13.3. ประธานมีสิทธิสั่งจ่ายเงินในกิจกรรมของเครือข่ายฯ ตามวัตถุประสงค์ได้ครั้งละไม่เกิน 5,000.- บาท
(ห้าพันบาทถ้วน) และต้องแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ทราบในการประชุมครั้งถัดไป
ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ
13.4. การรับเงินที่มีผู้บริจาค หรือได้มาโดยวิธีอื่นใด เหรัญญิกจะต้องทำหนังสือรับเงินให้ไว้แก่ผู้บริจาค
และจะต้องทำการบันทึกลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน การจัดให้มีกิจกรรมที่มีการสมทบทุนหรือเรียก
เก็บเงิน บังคับให้เหรัญญิกจำต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากอาสาสมัครของทุกระดับชั้นเรียน
13.5. เหรัญญิกจะต้องเก็บรักษาบัญชีรายรับ/รายจ่าย บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเครือข่ายฯ ตลอดจน
บัญชีอื่น ๆ ที่จำเป็นทุกชนิด เพื่อเป็นหลักฐานและแสดงฐานะการเงินของเครือข่ายฯ
13.6. เหรัญญิกจะต้องจัดเตรียมสรุป และส่งมอบเงินที่มีอยู่ตามบัญชีคงเหลือครั้งสุดท้าย ให้แก่
คณะกรรมการชุดใหม่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดนี้หมดวาระ

หมวดที่ 6
ข้อบังคับ

คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จะเป็นผู้ตราข้อบังคับขึ้นโดย
ไม่ขัดแย้งกับธรรมนูญของเครือข่ายผู้ปกครอง และด้วยธรรมนูญนี้ อาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติม ในการร่วมกันเป็น
เครือข่ายผู้ปกครอง ข้อบังคับเหล่านี้อาจถูกแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้


หมวดที่ 7
การแก้ไขเพิ่มเติม

14.1. ผู้มีสิทธิ์เสนอ
การขอแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญฉบับนี้ผู้ที่จะขอแก้ไขได้คือ เครือข่ายผู้ปกครองระดับโรงเรียน
และคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนระดับโรงเรียน
14.2. วิธีพิจารณา
14.2.1. ข้อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ จะต้องยื่นต่อเลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายฯ
14.2.2. เลขานุการเครือข่ายฯ จะส่งสำเนาข้อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมไปยังประธานเครือข่ายฯ เป็นเวลา
ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนที่คณะกรรมการเครือข่ายฯ จะประชุม
14.2.3 คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โดยประธานเครือข่ายฯ
และคณะกรรมการเครือข่ายฯ โดยตำแหน่ง จะร่วมกันพิจารณาและลงลมติในข้อเสนอแก้ไข
เพิ่มเติมนั้น ในวันประชุมใหญ่เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนประจำปี
14.2.4. การแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกคณะกรรมการ
เครือข่ายฯ ร่วมทุกระดับที่เข้าร่วมประชุมเป็นองค์ประชุม
หมวดที่ 8
บทเฉพาะกาล

1. ให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการประชุมตามหน้าที่ข้างต้นได้จนกว่าจะหมดวาระ
2. ให้ผู้ปกครองนักเรียนปัจจุบันเป็นสมาชิกของเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
โดยอัตโนมัติ และสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ต่อเมื่อนักเรียนในปกครองจบการศึกษา หรือ
พ้นจากสภาพนักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
3. ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีหน้าที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายผู้ปกครอง
นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีให้คงอยู่ตลอดไป
สร้างเครือข่ายฯ โรงเรียนให้แข็งแรง เป็นกำแพงป้องกันลูก ๆ ให้รอดพ้นจากภัยทั้งปวงรวมทั้ง
ยาเสพติคและยังเป็นโอกาสที่จะได้เสริมสร้างลูก ๆ ให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีงามของประเทศ
สืบต่อไป อนาคตของลูกอยู่ในมือท่าน
คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ปี พ.ศ. 2553


ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นายอนันต์ เอี่ยมจรัส
ประธานเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

webmaster จาก ACTPN 58.11.21.203 พุธ, 31/7/2556 เวลา : 00:21   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 9120

คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  





Program Date : 3 Jan 2011 (icon update2)
หน้าแรก (Home) | กระดานรายงานข่าวสารและกิจกรรม(Webboard) | LOGIN | LOGOUT | คณะกรรมการเครือข่ายฯปี 2556 | เกี่ยวกับเรา
ติดต่อประสานงานลงข่าวกิจกรรมและนำเสนอปัญหาหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง
Email:::>>>
actpn@weekendhobby.com หรือ TEL:081-6419681 (9:00-16:00 น.) >>>Truehits.net    วันพุธ,24 เมษายน 2567