WeekendHobby.com
เครื่องมือในการใช้งาน website =>> สมัครสมาชิก | Login | Logout | เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อโฆษณา         View stat by Truehits.net


รวมคำพิพากษาฎีกาที่มีประโยชน์ กับผู้ถือปืน
kingcobra
จาก kingcobra
IP:125.25.52.71

เสาร์ที่ , 26/7/2551
เวลา : 12:37

อ่านแล้ว = ครั้ง
 เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งตรวจสอบกระทู้
 แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน ส่งหาเพื่อน

       บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด

บทความนี้ได้รวบรวมและนำมาจาก เว็บบอร์ด.http://www.gunsandgames.com/

ขออนุญาตและขอขอบพระคุณท่านเจ้าของบทความมา ณ โอกาสนี้ด้วยขอรับ





.หลักในการ..นำพาปืน ไปนอกบ้าน ที่ควรรู้ .
และอาจจะไม่ถูกจับกุม หากปฏิบัติตาม
กองวิจัยและวางแผน ส่วนราชการกรมตำรวจ ที่ 0503 ( ส ) / 27663 วันที่ 30 กันยายน 2525
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจค้นบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถาน
เรียน ผบช. , ผบก. , หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าทุกหน่วยงาน

ตามบันทึก ตร.ที่ 0501 /30476 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2517 กำหนดแนวทาง
ในการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ให้ใช้ดุลพินิจในการตรวจค้น จับกุมผู้พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานให้เป็นการถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ. อาวุธปืนฯ
พ.ศ. 2490 ขึ้นอีก ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันยังคงมีปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบบุคคลพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ โดยมีเพียงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ( ป. 4 ) แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ( ป. 12 ) ก็มักจะควบคุมตัวมาดำเนินคดีทุกรายไป ทำให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตรวจค้นและจับกุม เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ แห่ง พรบ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูป การปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 กำหนดว่า ห้ามมิให้ ผู้ใดพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด
ห้ามมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือพาไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายยังคงเปิดโอกาส ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์นำเอาอาวุธปืนที่ตนมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาติดตัวไปเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินได้ ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้กระทำได้ ตามแนวคำชี้ขาดไม่ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนไปในเมือง
หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งถือว่าโดยสภาพเป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์ มีแนวทางพอสรุปได้ดังนี้คือ
1. ถ้าได้นำอาวุธปืนใส่กระเป๋าเก็บไว้ในช่องเก็บของท้ายรถ ซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีทันใด
2. เอาอาวุธปืนใส่กระเป๋าใส่กุญแจแล้ววางไว้ในรถซึ่งไม่สามารถหยิบใช้ได้ในทันทีทันใด
3. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด จำนวนเป็นหมื่นๆ นำติดตัวมาแล้วมีอาวุธปืน
ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว ใส่ช่องเก็บของหน้ารถยนต์เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สิน
4. ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัด นำอาวุธปืนติดตัวมาด้วย โดยแยกอาวุธปืน
และเครื่องกระสุนปืนออกจากกัน ใส่กระเป๋าเอกสารไว้ที่พนักเบาะหลังรถยนต์
5. ห่ออาวุธปืน และแหนบบรรจุกระสุนปืน ( แมกกาซีน ) แยกออกคนละห่อเก็บไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ
จึงแจ้งมาเพื่อทราบและแจ้งให้ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้เป็นดุลพินิจ
ประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ต่อไป
ลงชื่อ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ ( ณรงค์ มหานนท์ )
รองอ.ตร.ปป.ปร.ท.อ.ตร.
ลองๆทำตามดู น่าจะยังใช้บังคับอยู่ครับ ...
ทีนี้มาดูผล ของการปฏิบัติตามแบบนี้กันดูบ้างครับ
เรื่องทั้งหมดนี้มีที่มาสามารถอ้างอิงได้ โดยมีที่มาเอาไว้ให้เพื่อจะได้ไปเปิดค้นดูได้ถึงที่มาที่ไป...
เรื่องที่ ๑ ผู้ต้องหาถูกตำรวจจับได้ในขณะขับรถยนต์ไปเก็บเงินลูกค้าที่ผู้ต้องหาขายยาที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นเงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ผู้ต้องหาอ้างว่านำอาวุธปืน ติดตัวไปเพื่อป้องกันทรัพย์สิน ปืนดังกล่าวผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยถูกต้องแล้ว พร้อมกับแสดงเงินสด ๓๕,๐๐๐ บาท ให้พนักงานสอบสวนดูไว้เป็นหลักฐาน
ปรากฎว่าตำรวจค้นปืนได้จากที่เก็บของด้านหน้าซ้าย ของรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาขับไป อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหาไม่ได้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย แต่ได้เก็บไว้ในที่เก็บของมิดชิด และการที่ผู้ต้องหา
ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยพาอาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้วติดตัวไปด้วยนั้น นับว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ พรบ.อาวุธปืนฯ
มาตรา ๘ ทวิ , ๗๒ ทวิ ฯลฯ

เรื่องที่ ๒ .. ผู้ต้องหาถูกจับได้พร้อมปืนสั้นขนาด .๓๘ มีทะเบียนแล้ว กับมีกระสุน
ในลูกโม่ ๒ นัด และกระสุนอยู่ในซองกระสุนอีก ๒๘ นัด ของทั้งหมดอยู่ในกระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของผู้ต้องหา
อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหานำอาวุธปืนของตนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้ว ใส่ไว้ในกระเป๋าถือ และเอากระเป๋าถือใส่ไว้ในกระโปรงรถยนต์ซึ่งใส่กุญแจ โดยสภาพมิใช่เป็นการพาอาวุธติดตัวและมิใช่โดยเปิดเผยจึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ฯลฯ

เรื่องที่ ๓ .. ผู้ต้องหาขับรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อมาตามถนนสายธนบุรี - ปากท่อถูกตำรวจจับที่ด่านตรวจรถ พร้อมปืนกับกระสุน ๗ นัดซึ่งผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้แล้ว แต่ไม่มีใบพกพา ปืนดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าถือบนตะแกรงเหล็กเหนือที่นั่งของผู้ต้องหา
อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหามีอาวุธปืนใส่ไว้ในกระเป๋าถือ เก็บไว้ในตะแกรงเหล็กเหนือศรีษะที่นั่งคนขับ โดยสภาพจึงไม่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัว ไม่เป็นความผิด จึงชี้ขาดไม่ฟ้อง

ทั้ง ๓ เรื่อง มาจาก หนังสือ เล่นปืนไม่ให้ถูกจับ ของอ. สมพร - ศรีนิดา พรหมหิตาธร
ซึ่งเป็นพนักงานอัยการเป็นผู้เขียน หน้าที่ ๕๐ - ๕๑ ( พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ )
ต่อไปเป็นความเห็นชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัว
อัยการสูงสุดได้ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ที่ ๖๔ / ๒๕๒๔ เกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนติดตัวว่า การพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พรบ. อาวุธปืน ฯลฯนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้ต้องหานั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันที หากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ดังนั้น การที่ผู้ต้องหานำอาวุธปืนไป โดยเก็บไว้ที่เก็บของท้ายรถ จึงไม่ใช่เป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปตามความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
คดีชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๑๙ / ๒๕๓๗ อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการพาอาวุธปืนติดตัวที่จะเป็นความผิดตาม พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถอาจใช้อาวุธปืนนั้นได้ในทันทีหากต้องการจะใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมการเพื่อการใช้ใดๆอีก ฉะนั้น การที่ผู้ต้องหาแยกอาวุธปืนกับกระสุนออกจากกันและบรรจุไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วนำกระเป๋าติดตัวมาด้วยจึงไม่ใช่การพาอาวุธปืนติดตัวในความหมายของกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา
ที่มา ก็จากหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าที่ ๕๖ -๕๗
ในยุค ป.๑๒ ขอยาก ก็ต้องเสี่ยงกันไป แต่หากว่าประชาชนคนใดพกพาแบบที่ว่ามาแล้ว
ข้างต้นก็มีสิทธิได้รับความอะลุ่มอะหล่วยจากตำรวจได้ จึงอยากจะขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่อยู่ในเวปและนอกเวปนี้ครับได้โปรดอะลุ่มอะหล่วยกับคนบริสุทธิ์ที่ต้องพาปืนไปป้องกันตัวด้วยเถิดครับ
เพราะแม้คุณจะจับกุมไปไว้ก่อน แต่ผลสุดท้ายทางอัยการสูงสุดก็คงจะสั่งไม่ฟ้องได้ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น
ด้วยความปราถนาดีต่อเพื่อนๆสมาชิกชาวปืนทุกคนครับ
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวข้างต้นก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยครับจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๔๕ / ๒๕๔๐ วินิจฉัยว่า กระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพและคำพยานจำเลยแสดงว่า มีกุญแจล็อคถึง ๒ ด้านทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลัง การจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพกพาติดตัว ทั้งเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นการขนย้ายไปยังบ้านที่ต่างจังหวัดนั้น จำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านมานำสืบว่ามีการย้ายภูมิลำเนาไปจริง แม้จะภายหลังวันเวลาเกิดเหตุแต่ก็เพียงไม่กี่วัน ต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยตามที่อ้างว่าเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธของกลางไปจำเลยไม่มีความผิดตาม พรบ.อาวุธปืน ฯ มาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๒ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑
ครับจะเห็นว่าคดีนี้ แม้ศาลจะฟังว่าจำเลยย้ายของ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ตามแต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัย ถึงหลักว่า อย่างไรที่จะถือว่าเป็นการพกพาปืนติดตัวเอาไว้ด้วยซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวข้างต้น และเป็นความยุติธรรมดีครับ ..
เมื่อมีปืน แล้วต้องรู้จักคำว่า ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ปืนแล้วยิงคนตาย แบบไม่มีความผิดเลย ก็คือยิงเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘
หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ( มี ๔ ข้อ ) คือ
๑ . มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเช่น มีคนมาปล้น มาจะฆ่า จะทำร้าย เป็นต้นระวัง หากเขามีสิทธิทำร้ายเราได้ เช่นพ่อมีสิทธิว่ากล่าว / ตีลูก เมื่อเราทำผิดบิดามารดา
ลงโทษเรา /ตีเรา ไม่ถือเป็นภยันตรายตามข้อ ๑ นี้ เราตอบโต้แล้วอ้างป้องกันไม่ได้ มีฎีกา ที่ ๔๒๙/๒๕๐๕ ว่าพระตีลูกศิษย์ ลูกศิษย์ตอบโต้ ฆ่าพระ ไม่เป็นป้องกัน กรณีเห็นเมียกำลังนอนกอดกับชายชู้ ถือเป็นภยันตรายที่มาละเมิดตามข้อ ๑ แล้วแต่ก็แยกว่า ถ้าภริยาจดทะเบียนสมรสกับเรา เราฆ่าชู้ เป็นป้องกัน ( ฏีกาที่๓๗๘/๒๔๗๙ ) แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียน ไม่เป็นป้องกัน แต่อ้างบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยลงได้ ( ฎีกาที่ ๒๔๙/๒๕๑๕ )
แม้จะมีภยันตรายตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม แต่ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้ จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย คือ
- ไม่เป็นผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรกเช่น ฎีกาที่ ๒๕๑๔/ ๒๕๑๙ จำเลยชกต่อยก่อน แล้ววิ่งหนี เขาไล่ตามต่อเนื่องไม่ขาดตอน จำเลยยิงเขาตาย อ้างป้องกันไม่ได้
- ไม่เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทกันเช่นฎีกาที่ ๒๓๒๒/๒๕๒๒ จำเลยโต้เถียงกันคนตาย แล้วก็ท้าทายกัน สมัครใจเข้าชกต่อยต่อสู้กัน แม้คนตายจะยิงก่อน แล้วจำเลยยิงสวนก็อ้างป้องกันไม่ได้
- ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อืนกระทำต่อตนโดยสมัครใจเช่น ให้เขาลองของคุณไสย์
คงกระพัน แล้วจะไปโกรธตอบโต้ภายหลังอ้างป้องกันไม่ได้
- ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นเขาโกรธก่อนเช่นไปร้องด่าพ่อแม่ ด่าหยาบคายกับเขาก่อน พอเขาโกรธมาทำร้ายเราเราก็ตอบโต้ เราอ้างป้องกันไม่ได้
๒. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเช่น เขากำลังจะยิงเรา เราจึงต้องยิงสวน
ฎีกาที่ ๒๒๘๕ / ๒๕๒๘ จำเลยกับคนตายคุยตกลงกันเรื่องแบ่งวัว จำเลยชวนให้ไปคุยตกลงกันที่บ้านกำนัน คนตายไม่ยอมไป กลับชักปืนออกมาจากเอวจำเลยย่อมเข้าใจว่าจะยิงตน จึงยิงสวน ๑ นัด เป็นป้องกัน
ฎีกาที่ ๑๗๓๒ /๒๕๐๙ คนตายชักมีดพกจากเอวมาถือไว้ แล้วเดินเข้ามาหาจำเลย
ระยะกระชั้นชิด จำเลยยิงสวน ๑ ที คนตายยังเดินต่อเข้ามาอีก จึงยิงสวน อีก ๑ ทีล้มลงตาย เป็นป้องกันสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๗๔๑/ ๒๕๐๙ คนตายจับมือถือแขนคู่หมั้นจำเลย พอจำเลยมาเห็นคนตายก้มหยิบมีดพร้าที่วางใกล้ๆ ยาว ๑๒ นิ้ว ด้ามยาวอีก ๑๒ นิ้ว แสดงว่าคนตายจะทำร้ายทันทีเมื่อหยิบมีดได้ จำเลยใช้มีดฟันตนตายไป ๑ ทีป้องกันพอแก่เหตุ
ฎีกาที่๑๖๙ / ๒๕๐๔ คนตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กันจำเลยไม่สู้ คนตายถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลอง จะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน จำเลยไม่หนีเพราะบ้านตัวเอง และใช้ปืนยิงสวนไป ๑ นัด ขณะที่คนตายอยู่ห่าง ๖ ศอกถึง ๒ วา เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ฎีกานี้วางหลักว่า ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภยันตราย ก็อ้างป้องกันได้
๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น ข้อนี้ตามที่อธิบายข้างต้นไปแล้ว
๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขตไม่งั้นจะเป็นการป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ไป
ซึ่งจะทำให้ยังมีความผิดอยู่
แบบไหนไม่เกินกว่าเหตุ ยากมากครับ ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น
ฎีกาที่ ๘๒๒ / ๒๕๑๐ คนตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน จะเข้ามาชกต่อยทำร้ายจำเลย จำเลยจึงเอาปืนยิงลงพื้นดินไป ๑ นัด เพื่อขู่ให้คนตายกลัว แต่คนตายไม่หยุดกลับเข้ามากอดปล้ำใช้แขนรัดคอแล้วแย่งปืนจำเลย จำเลยจึงยิงขณะชุลมุนนั้นไป ๑ นัด ตาย เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๙๔๓ /๒๕๐๘ คนร้ายจูงกระบือออกจากใต้ถุนบ้านแล้ว มีปืนลูกซองมาด้วย จำเลยร้องถามแล้ว คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย จำเลยยิงสวนทันที ศาลฎีกาบอกว่า คนร้ายหันปืนมาแล้ว อาจยิงได้ และถ้าจำเลยไม่ยิง คนร้ายก็อาจเอากระบือไปได้ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๒๕๖ /๒๕๓๐ คนตายบุกรุกเข้าไปฉุดลูกสาวในบ้านจำเลย เมื่อมารดาเด็กเข้าห้ามถูกคนร้ายตบหน้า แล้วจะฉุดพาลูกสาวออกบ้านจำเลยยิงไปทันที ๔ นัด เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๖๐๖ / ๒๕๑๐ คนตายเข้ามาชกจำเลย จำเลยล้มลง คนตายเงื้อมีดจะเข้าไปแทง จำเลยยิงสวน เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
เทียบกับ
ฎีกาที่ ๒๗๑๗/ ๒๕๒๘ คนตายยืนถือมีดอยู่ห่าง ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้ายจำเลย การที่จำเลยด่วนยิงคนตายไปก่อนเป็นป้องกันจริง แต่เกินสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๔๕๔๔ / ๒๕๓๑ คนตายบุรุกเข้าไปในบ้านจำเลยยามวิกาลเมื่อจำเลยได้ยินเสียงผิดปกติ คว้าปืนลงมาดู คนตายยิงทันทีจำเลยยิงสวน เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก.ถือไม้ไปที่บ้านจำเลย ร้องท้าทายให้จำเลยมาสู้กัน ก.เดินเข้าหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาเอาไม้ตีทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนแล้วเล็งยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อรู้ว่ากระสุนถูกที่ขา ก. จำนวน ๑ นัดจำเลยก็ไม่ยิงซ้ำ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
คราวนี้มาดูกรณีที่ถือว่าเกินสมควรกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๒๙๘๓ / ๒๕๓๑ คนตายขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน พบจำเลยระหว่างทางจำเลยพูดทวงหนี้คนตาย คนตายโกรธเคืองต่อว่าจำเลย พร้อมเดินเข้าไปหาจำเลยด้วยมือเปล่าเพื่อจะทำร้าย ระยะห่างประมาณ ๑ วา จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัด เป็นป้องกันตัวจากการจะถูกทำร้าย แต่เกินกว่าเหตุเพราะคนตายมือเปล่า
ฎีกาที่ ๖๔ / ๒๕๑๕ ก.และ ข.มือเปล่าไม่มีอาวุธ เข้ารุมชกต่อยจำเลย จำเลยใช้ปืนยิง ในระยะติดพันกันนั้นรวม ๓-๔-๕ นัด จน ก. ตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๔๐๕ / ๒๔๙๐ จำเลยเฝ้าไร่พืชผัก คนตายเข้าไปในไร่ เวลากลางวันเพื่อจะลักพืชผัก จำเลยจึงใช้ปืนยิงคนตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๑๓๔๓ / ๒๔๙๕ ยิงคนร้ายขณะกำลังวิ่งหนีและพาเอาห่อของที่ลักไปด้วย โดยคนร้ายไม่ได้ทำอะไรแก่ตนเลย เป็นป้องกัน แต่เกินสมควรแก่เหตุมาก
ฎีกาที่ ๒๙๔ /๒๕๐๐ ยิงคนร้ายที่จูงกระบือในเวลากลางคืน ตรงนั้นมืดมาก โดยคนร้ายไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้ เป็นป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๒๗๑๗ / ๒๕๒๘ คนตายเข้ามาลักลอบตัดข้าวโพดในไร่จำเลย ในตอนกลางคืน โดยคนร้ายเอามีดมาด้วย แต่ขณะที่จำเลยมาเห็น คนตายยืนถือมีดห่างประมาณ ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้าย จำเลยด่วนยิงจึงเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๑๘๙๕ / ๒๕๒๖ คนตายเมาสุรา เดินถือปืนตรงเข้าไปหาบิดาจำเลยพูดทำนองจะฆ่าบิดา จำเลยจึงสกัดกั้นยิงคนตายไปก่อน ๑ นัด แล้วกระโดดเข้าแย่งปืนคนตายมาได้ แต่กลับเอาปืนคนตายนั้นมายิงคนตายซ้ำอีก ๓ นัด จึงเกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๖๒๐ / ๒๕๓๒ คนตายถือมีดทำครัวบุกรุกเข้าไปในห้องจำเลยจะทำร้ายแต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงคนตายถึง ๕ นัด เป็นการเกินกว่าเหตุ
ข้อเท็จจริง ที่อาจเข้าข้อกฎหมายในเรื่องกระทำพอสมควรก่อเหตุ..
๑. การกระทำในลักษณะสวนกลับ ในทันทีนั้น พฤติการณ์ จึงอาจเลือกได้ ความว่องไวแม่นยำ กับ หลบหลีกเข้าที่กำบัง แล้วสวนกลับ
๒. ได้กระทำตอบในลักษณะความรุนแรง เดียวกับภัยที่ถูกกระทำ เพื่อยุติภัยนั้น. ไม่ซ้ำถ้าคนร้ายหมดความสามารถแล้ว
๓. ได้กระทำกับอีกฝ่าย ที่ประเมินแล้ว ว่า เป็นโจร เป็นคนร้าย. เพราะตามพฤติการณ์ คนดี จะหลีกเลี่ยงไม่กระทำละเมิด หรือประทุษร้ายบุคคลอื่นก่อน
ใครที่ชอบย่องเข้าบ้านคนอื่นตอนดึกๆระวังให้ดี
ฎีกาที่ .๓๘๖๙ / ๒๕๔๖ คนตายปีนเข้าบ้านจำเลยตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุ
ที่ปีนเข้ามา เมื่อจำเลยตื่นมาเห็นย่อมทำให้สำคัญผิดว่าคนตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนตายจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดมาก และเป็นเวลากระทันหัน หากจำเลยจะรอให้คนร้ายแสดงกริยาแล้วก็อาจจะถูกทำร้ายได้ การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปเพียง ๑ นัด คนตายร้องและล้มลง
และจำเลยมิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ส่วนพวกที่ชอบรุมกินโต๊ะ ( สุนัขหมู่ ) ก็ระวังให้ดี
ฎีกาที่ ๖๐๗๗/๒๕๔๖ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกมากแล้ว จำเลยคนเดียว
เข้าไประงับเหตุไม่ให้กลุ่มคนตายเป็นชาย ๓ คน ดื่มสุราและร้องเพลงส่งเสียงดังภายในเขตวัด แล้วเกิดโต้เถียงกัน จำเลยถูกชาย ๓ คนรุมทำร้ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโอกาสตอบโต้คืน และไม่อาจรู้ได้ว้าพวก ๓ คนมีอาวุธใดมาด้วยหรือไม่ จำเลยชักปืนที่พกมาด้วยยิงไปเพียง ๑ นัด ถูกคนตาย ถือว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๓๙๖ / ๒๕๑๔ ก.ใช้จอบตีทำร้ายจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เป็นคนก่อเหตุก่อน ถูกที่เหนือข้อศอกซึ่งยกขึ้นรับไว้ได้ จากนั้น ก.ยังใช้จอบฟันซ้ำอีก ๒ ที ถูกที่เหนือเข่าจนจำเลยล้มลง แล้วยังมีพวกของ ก. อีก ๒ คนถือขวานและมีดวิ่งเข้ามาด้วยกริยาแสดงให้เห็นว่าจะมาช่วย ก. เล่นงานจำเลยให้อยู่ จำเลยจึงใช้ปืนลูกซองสั้นยิงไป ๑ นัดในทันทีนั้นเอง เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดพวกที่ชอบแกล้ง ชอบขู่คนอื่น ชอบหยอกล้อคนอื่นก็ต้องระวัง
ฎีกาที่ ๕๗๕๘ / ๒๕๓๗ คนตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืน ( ไม่ใช่ปืน )เดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าวแล้ว แต่คนตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ๒ - ๓ เมตร ย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าคนตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปทางคนตายกับพวก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุแล้ว ไม่มีความผิด
ระวังเรื่อง หากภัยอันตรายมันผ่านพ้นไปแล้วด้วย
ฎีกาที่ ๔๕๔ / ๒๕๓๗ เริ่มแรกคนตายยกปืนเล็งมาทางจำเลย จำเลยไม่มีปืน จึงเข้าแย่งปืนกับคนตาย ปืนลั่น ๑ นัดแล้วปืนหลุดจากมือคนตาย การที่จำเลยยังไปเอามีดอีโต้ มาฟันคนตายในขณะนั้นอีก ไม่เป็นการป้องกันเลยเพราะภยันตรายที่จำเลยจะถูกปืนยิงมันผ่านพ้นไปแล้ว จำเลยไม่มีภัยที่จะต้องป้องกันอีก การที่จำเลยยังใช้มีดฟันคนตายอีก เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษมากน้อยเพียงใดก็ได้
ฎีกาที่ ๑๐๔๘ - ๑๐๔๙ / ๒๕๑๔ จำเลยเป็นตำรวจออกตรวจท้องที่พบผู้ตายกับพวกหลายคนถือไม้และท่อนเหล็ก จับกลุ่มกันอยู่ในยามวิกาล จึงเข้าไปสอบถามผู้ตายกับพวกกับกลุ้มรุมทำร้ายตัวจำเลยจนศีรษะแตกล้มลง จำเลยชักปืนออกมาผู้ตายกับพวกเห็นดังนั้นก็พากันวิ่งหนี จำเลยจึงยิงไปทางพวกผู้ตาย
กระสุนปืนถูกผู้ตายทางด้านหลังถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยไม่เป็นป้องกัน เพราะภยันตราย
ที่เกิดแก่จำเลยได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ปอ.มาตรา ๗๒
ฎีกาที่ ๑๐๑๑ / ๒๕๓๓ ก. เข้าไปชกต่อยจำเลย ๒ ที แล้วก็ออกมา ไม่ปรากฏว่าจะมีการจะไปทำร้ายต่ออีก ภยันตรายที่จะป้องกันจึงผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยเอามีดไปแทง ก. หลังถูกชกต่อยเลิกแยกกันไปแล้ว จึงไม่เป็นป้องกันตาม มาตรา ๖๘ แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม มาตรา ๗๒
หากมีคนมาตะโกนร้องท้าทายเรา ต้องระวังใจตนเองครับ
ฎีกาที่ ๓๐๘๙ / ๒๕๔๑ เมื่อ ก. ไปร้องท้าทายจำเลยว่า ( มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง ) แม้จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับ ก. แล้ว จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้หรือออกไปพบ ก. ก็ได้ / แต่จำเลยกลับออกไปพบ ก. โดยพกปืนติดตัวไปด้วย แสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับ ก. และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ ก. จะชักมีดออกมาจ้วงแทงจำเลยก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยใช้ปืนยิงหรือใช้ไม้ตีตอบโต้ก็ไม่อาจอ้างป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายได้
เปรียบเทียบ กับ ๓ เรื่องข้างล่างนี้
ฎีกาที่ ๑๐๖ / ๒๕๐๔ ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาสู้กัน แต่จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย๑ นัดขณะผู้ตายอยู่ห่าจากโรงจำเลย ๖ ศอกถึง ๒ วานั้น ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน
ชีวิตพอสมควรแก่เหตุตาม มาตรา ๖๘ แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก. ถือไม้เป็นอาวุธไปที่บ้านจำเลยและร้องท้าทายให้จำเลยออกมาตีกันจำเลยไม่ออกไปตามคำท้า ก.จึงเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนสั้น
ของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนมาแล้วยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อกระสุนถูกขา ก.๑ นัด จำเลยไม่ยิงต่อ การยิงของจำเลยดังกล่าวเพียงเพื่อยับยั้งไม่ให้ ก. เข้ามาทำร้ายจำเลยในบ้านเท่านั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
และพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๑๓๖ /๒๕๒๙ ก. กับพวกกำลังดื่มสุราอยู่ในซอย เห็นจำเลยเดินมาหาว่าจำเลยถอดเสื้ออวดรอยสัก ได้เรียกจำเลยเข้าไปถามและช่วยกันรุมทำร้าย จำเลยวิ่งหนีมาถึง ๓ แยก หนีต่อไปไม่ทัน จึงได้หันกลับไปแล้วยกปืนขึ้นมาจ้องขู่ ก. ว่าอย่าเข้ามาถ้าเข้ามาจะยิง แต่ ก. ก็ไม่เชื่อ ยังทำท่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก จำเลยจึงใช้ปืนยิง ก. ๑ นัด เป็นการป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
เมื่อเห็นคนอื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่านิ่งดูดายนะครับ
ความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ เรื่องป้องกันก็สามารถป้องกันสิทธิ
ของคนอื่นที่กำลังจะได้รับภยันตรายได้ด้วย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของตัวเองแต่อย่างใด หากเราพบคนอื่นกำลังตกอยู่ในภยันตราย ถือได้ว่าเราพบความผิดซึ่งหน้าเกิดขึ้นแล้ว ราษฎรอย่างเราก็มีสิทธิเข้าช่วยเหลือโดยอ้างสิทธิผู้อื่นตาม มาตรา ๖๘ นี้ก็ได้ หรือจะเข้าไปช่วยโดยอ้างว่าพบความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓ก็ได้
มีฎีกา ที่ ๒๓๕๓ / ๒๕๓๐ วินิจฉัยว่า กรณีที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า ราษฎรไม่มีอำนาจ
ตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ... .......................... ฯ
เมื่อแปลความกลับก็จะได้ความว่า หากเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้วราษฎรเข้าจับกุมได้ ก็ตาม มาตรา ๗๙ / ๘๐ / ๘๓ นี่แหละ
และการเข้าไปจับกุมดังกล่าวก็ไม่ต้องแจ้งข้อหาให้คนร้ายทราบก่อนด้วยก็ได้
( ตามฎีกาที่ ๕๑๒/ ๒๔๘๐ และที่ ๓๑๙ - ๓๒๐ / ๒๕๒๑ )
และเมื่อเข้าไปจะจับกุมคนร้ายแล้ว หากคนร้ายขัดขืน เช่นว่า ชักปืนจะยิงสู้ เราก็ยิงโต้ตอบคนร้ายได้โดยอ้างป้องกันตาม มาตรา ๖๘ ได้อีก เพราะตามมาตรา ๘๓ วรรคท้าย ให้อำนาจราษฎรที่เข้าไปจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้าสามารถใช้วิธีตอบโต้คนร้ายได้ตามสัดส่วนของภัยนั้นๆ
ลองๆดูคำพิพากษา
ฎีกาที่ ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔ กลุ่มวัยรุ่นกำลังรุมทำร้าย ถ. จำเลยไปเจอ จึงได้ใช้อาวุธปืนที่มียิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ.เมื่อจำเลยยิงขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุนจากปืนของจำเลยได้ลั่นไปถูกคนตาย
เป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิด
ฝากไว้ว่า อย่านิ่งดูดายนะครับ เพราะความจริงมีกฎหมายเขาคุ้มครองพลเมืองดีอย่างเราๆอยู่ครับ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกฎหมายครับ ... เมื่อเจอคนร้ายกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรอย่างเราๆก็อาศัย
อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓ เข้าไปจับกุมได้เลยครับ
โดยไม่ถือเป็นความผิดอะไร เมื่อถูกคนร้ายเข้าขัดขวางการจับกุมก็อาศัยอำนาจตามความ ใน มาตรา ๘๓ วรรคท้าย ที่บัญัติว่า( ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับ ขัดขวาง หรือจะขัดขวางการจับกุมหรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น )
อาศัยอำนาจตามข้อความวรรคท้ายของมาตรานี้ มาป้องกัน / ตอบโต้การต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม ของคนร้ายได้เลยครับ ดังนั้น ก็กลับมาสู่หลักเดิม คือเรื่องการป้องกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ ได้อีก ว่า คนร้ายทำท่าจะยิงเรา เราก็ยิงสวนป้องกันตัวได้ตามหลักในแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นครับ ถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะเกิดกับผู้จะเข้าจับกุมอย่างเรา ที่เข้าจับกุมโดยอาศัยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๓ นั่นเอง เมื่อคนร้ายเกิดตาย เราก็อ้างได้ว่ามีสิทธิเข้าจับได้ / เข้าช่วยเหลือได้
และอ้างสิทธิป้องกันตัวได้ด้วย ไงครับ ผลคือไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย / พยายามฆ่า / ทำร้ายร่างกาย
ส่วนข้อหาพกพาปืนโดยไม่มีใบพก ก็จะตกไป เพราะถือว่าในกรณีนี้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ ที่จะต้องใช้ปืนแล้วละครับเพราะหากเราไม่มีปืน เราก็คงไม่เข้าช่วยเหลือ / เข้าจับกุม
และอาจเกิดผลร้ายกับเหยื่อของคนร้ายได้ครับ .. .. .. เขาคงไม่รอดครับ ..
ส่วนที่ว่าจะยิงคนร้ายก่อนได้ไหม ผมตอบไม่ได้ต้องดูพฤติการณ์ เป็นเรื่องๆไป ยกตัวอย่างเช่น
ไปเจอเหตุการณ์คนร้ายกำลังเอาปืนจี้คนขายในร้านทองอยู่พอดี คนร้าย ๒ -๓ คน ล้วนมีปืนครบมือทุกคน คลุมหน้าตา กรณีอย่างนี้ เชื่อได้เลยว่า หากเราเรียกคนร้ายหันมาเจอเรา ต้องยิงเราแน่ ไม่ปล่อยไว้ และพฤติการณ์ที่คนร้ายกำลังเอาปืนจ่อไปที่เจ้าของร้านทอง ถือเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย ที่ใกล้จะถึงที่เกิดกับเจ้าของร้านทองแล้วละครับ เรายิงได้ทันทีเลย เป็นป้องกันสิทธิของเจ้าของร้านทองครับตาม มาตรา ๖๘ ได้ครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราไปเจอคนร้ายกำลังยิงคนอยู่ ถือว่า กรณีอย่างนี้เกิดภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึง หรือถึงแล้ว แก่เหยื่อเคราะห์ร้ายคนนั้นแล้วละครับ เจอแบบนี้เรายิงโจรได้เลย
เป็นการป้องกันสิทธิของเหยื่อรายนั้นได้ครับ ตามมาตรา ๖๘ เพราะถ้าเราไม่ยิง คนร้ายมันก็ต้องยิงเหยื่อตายครับ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีที่มีคนเอาปืนมาจ้องเล็งกำลังจะยิงเรา เราก็ยิงสวนตอบโต้ไปได้ ถ้าไม่ยิงเราก็ตาย ส่วนอันนั้น หากเราไม่ยิง เหยื่อเคราะห์ร้ายก็ต้องตาย หลักป้องกันเดียวกันครับ ไม่ว่าป้องกันสิทธิของตนเองหรือ สิทธิของผู้อื่น .. . เป็นการอธิบายโดยใช้หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาครับ
ป้องกันตัว เพื่อชีวิตของท่านทั้งหลาย โดยชอบด้วยกฏหมาย



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

แจ้งเพื่อเก็บขึ้นกระทู้พิเศษ คลิ๊กที่นี่แจ้งเพื่อนำขึ้นกระทู้พิเศษ

คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  

คำตอบที่ 1
       มีประโยชน์มาก ๆ ครับสำหรับผู้ที่มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยถูกกฎหมาย



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

ดูดีดี จาก แดง 117.47.230.176 อาทิตย์, 27/7/2551 เวลา : 09:51  IP : 117.47.230.176   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52764

คำตอบที่ 2
       แรกๆนึกว่า kingcobra คือเหมยเขียว แต่กระทู้มีประโยชน์แบบนี้ ไม่น่าใช่ ขออภัยครับที่สงสัย



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

กุ้งแห้ง จาก -กุ้งแห้ง 125.25.200.22 อาทิตย์, 27/7/2551 เวลา : 19:29  IP : 125.25.200.22   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52771

คำตอบที่ 3
       มีประโยชน์



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

alphaj จาก AlphaJ 203.155.72.217 จันทร์, 28/7/2551 เวลา : 15:11  IP : 203.155.72.217   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52785

คำตอบที่ 4
       ขอคุณสำหรับความรู้ที่นำมาให้อ่านครับ
มีประโยชน์ต่อเพื่อนๆครับ



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

mv.18 จาก mv.18 118.173.159.145 อังคาร, 29/7/2551 เวลา : 10:49  IP : 118.173.159.145   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52800

คำตอบที่ 5
       แจ๋วครับ มีประโยชน์มาก ขอบคุณ



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

rojnataya จาก ROJ 58.64.116.147 อังคาร, 29/7/2551 เวลา : 19:09  IP : 58.64.116.147   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52819

คำตอบที่ 6
       ขอบคุณครับ มีประโยชน์มากเลย จะได้ทำตัวถูกอย่างไม่ต้องลังเล ขอบคุณครับ เข้าท่า เข้าท่า



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

jwiss จาก อานาเบเบ้ 222.123.207.98 พฤหัสบดี, 31/7/2551 เวลา : 02:18  IP : 222.123.207.98   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 52836

คำตอบที่ 7
       ขอถามครับ

เรื่องที่ ๑ ผู้ต้องหาถูกตำรวจจับได้ในขณะขับรถยนต์ไปเก็บเงินลูกค้าที่ผู้ต้องหาขายยาที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นเงินจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท ผู้ต้องหาอ้างว่านำอาวุธปืน ติดตัวไปเพื่อป้องกันทรัพย์สิน ปืนดังกล่าวผู้ต้องหาได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้โดยถูกต้องแล้ว พร้อมกับแสดงเงินสด ๓๕,๐๐๐ บาท ให้พนักงานสอบสวนดูไว้เป็นหลักฐาน
ปรากฎว่าตำรวจค้นปืนได้จากที่เก็บของด้านหน้าซ้าย ของรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาขับไป อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดว่า ผู้ต้องหาไม่ได้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย แต่ได้เก็บไว้ในที่เก็บของมิดชิด และการที่ผู้ต้องหา
ไปเก็บเงินจากลูกค้าต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก โดยพาอาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้วติดตัวไปด้วยนั้น นับว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ พรบ.อาวุธปืนฯ
มาตรา ๘ ทวิ , ๗๒ ทวิ ฯลฯ


อาวุธปืนที่พกพาอยู่ในช่องเก็บของหน้ารถทางซ้าย...อาวุธปืนอยู่ในสภาพพร้อมใช้(ตัวแหนบบรรจุกระสุนอยู่ในตัวปืน)หรือเปล่าครับ หรือแหนบบรรจะกระสุนอยู่แยกกับตัวปืน

จะได้นำไปเป็นแนวทาง เดี๊ยวจะมาเอาคำตอบนะครับ



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

091816605 จาก Jo-e' 202.44.32.9 อังคาร, 19/8/2551 เวลา : 10:31  IP : 202.44.32.9   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 53345

      

คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  



website รองรับการใช้งานทุกระบบปฏิบัติการของ PC Tablet SmartPhone ทุกระบบสามารถโพสข้อความและรูปภาพได้โดยไม่ต้องย่อไฟล์
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ website WeekendHobby.Com สมาชิก เท่านั้น จึงจะตั้งกระทู้ หรือ ตอบกระทู้ได้ครับ
Login Click ที่นี่
สมัครสมาชิก Click ที่นี่



Since 22, Feb 2001 hit counter View My Stats  Truehits.net      วันอังคาร,30 เมษายน 2567 (Online 5788 คน)