WeekendHobby.com
เครื่องมือในการใช้งาน website =>> สมัครสมาชิก | Login | Logout | เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อโฆษณา         View stat by Truehits.net


บทวิเคราะห์ "ความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งมีทิศทางพุ่งสวนทางราคาที่ปรับเพิ่ม"
สมใจจัง
จาก สบายใจ
IP:180.183.52.227

อังคารที่ , 25/6/2556
เวลา : 12:01

อ่านแล้ว = 2092 ครั้ง
แจ้งตรวจสอบกระทู้ แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน ส่งหาเพื่อน

       บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งมีทิศทางพุ่งสวนทางราคาที่ปรับเพิ่ม" ระบุว่านับตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ราคาก๊าซLPG ภาคขนส่ง ได้ปรับเขึ้นไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.75 บาท/กิโลกรัม รวม 2.25 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.38 บาท/กิโลกรัม จาก 18.13 บาท/กิโลกรัม คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซLPG ในภาคขนส่ง จะยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาที่ปรับเพิ่ม โดยพิจารณาได้จากจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซLPG รายใหม่ ยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11,000 คันต่อเดือน ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2555 ไปแล้วเฉลี่ยราวร้อยละ 18.4 เป็นผลให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมัน หันไปใช้พลังงานประเภทอื่นที่มีราคาต่ำกว่าและที่นิยมใช้มากก็คือก๊าซLPG เพราะราคาจำหน่ายยังอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันมาก ปริมาณการใช้ก๊าซLPG ที่เพิ่มขึ้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาระในการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซLPG ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศจึงต้องนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศในราคาที่สูง แต่ต้องนำมาจำหน่ายในประเทศด้วยราคาที่ต่ำกว่าเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน (ภาครัฐอุดหนุนราคาสำหรับก๊าซLPG ซึ่งนำเข้าในอัตราประมาณ 28 บาท/กิโลกรัม) ซึ่งถือว่าผิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ ที่มีนโยบายทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซLPG เพื่อลดการอุดหนุน รวมทั้งชะลอการใช้เพื่อลดการนำเข้า ฉะนั้นในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่น อาทิ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ที่ภาครัฐมีภาระในการอุดหนุนน้อยกว่ารวมทั้งเป็นพลังงานที่สามารถผลิตได้ในประเทศ อย่างไรก็ตามถ้าเร่งส่งเสริมพลังงานทดแทน...ลดผลกระทบจากการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้น ผลจากความต้องการใช้ก๊าซLPG ภาคขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าด้านหนึ่งจะช่วยลดภาระรายจ่ายด้านพลังงานของภาคประชาชนและธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ

• ผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG ที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้ก๊าซLPG ในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซLPG ในสัดส่วนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยในปี 2555 นี้ คาดว่าปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 160,000 ตัน/เดือน จากที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000 ตัน/เดือนในขณะที่ราคาก๊าซLPG ต่างประเทศคาดว่ายังคงทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์ฯ/ตัน ทำให้ภาครัฐมีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซLPG นำเข้าประมาณ 28 บาท/กิโลกรัม

• ภาระหนี้กองทุนน้ำมันสูง ผลจากการนำเข้าก๊าซLPG จากต่างประเทศในราคาสูง และนำมาจำหน่ายในประเทศในราคาที่ถูกกว่า ส่งผลทำให้ภาครัฐ มีภาระในการอุดหนุนราคาก๊าซเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2555 มีการจ่ายเงินอุดหนุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าในเดือนมีนาคม ภาระในการชดเชยจะสูงถึงประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันที่ปัจจุบัน ยังมีภาระหนี้สินอยู่มากกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนน้ำมันมีแผนที่จะเพิ่มวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีก 20,000 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาทรวมเป็น 30,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดูแลเสถียรภาพราคาพลังงาน

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่ภาครัฐทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซLPG ในภาคขนส่ง ก็เพื่อต้องการลดการอุดหนุนและแทรกแซงราคาพลังงานโดยเฉพาะพลังงานที่ต้องพึ่งพาการนำเข้านั้นถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผลจากโครงสร้างราคาก๊าซLPG ที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ความแตกต่างระหว่างราคาก๊าซLPG ภาคขนส่ง กับราคาน้ำมัน จึงยังมีช่วงห่างกันอยู่พอสมควร ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อเป้าหมายของภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกัน เนื่องจากการชดเชยราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น การชดเชยส่วนต่างราคาก๊าซLPG นำเข้า จึงยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปัจจุบัน ถือเป็นภาระหนักของภาครัฐที่จะต้องแบกรับสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้วงเงินกู้ยืมที่กองทุนน้ำมันมีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะรองรับการชดเชยในช่วงที่เหลือของปี จนอาจจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินกู้ยืมใหม่อีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันที่ต้องมีภาระหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพของราคาพลังงานทั้งระบบในอนาคต

ดังนั้นรัฐจึงควรดำเนินนโยบายการปรับราคาก๊าซLPG ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ อย่างน้อยก็พอที่จะช่วยลดปริมาณการนำเข้าก๊าซLPG ลงได้บ้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้นให้ทุเลาเบาบางลงได้








website รองรับการใช้งานทุกระบบปฏิบัติการของ PC Tablet SmartPhone ทุกระบบสามารถโพสข้อความและรูปภาพได้โดยไม่ต้องย่อไฟล์
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ website WeekendHobby.Com สมาชิก เท่านั้น จึงจะตั้งกระทู้ หรือ ตอบกระทู้ได้ครับ
Login Click ที่นี่
สมัครสมาชิก Click ที่นี่


Since 22, Feb 2001 hit counter View My Stats  Truehits.net      วันอังคาร,19 มีนาคม 2567 (Online 1635 คน)