WeekendHobby.com
เครื่องมือในการใช้งาน website =>> สมัครสมาชิก | Login | Logout | เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อโฆษณา         View stat by Truehits.net


อันตรายจากคลี่นวิทยุ(เห็นมีประโยชน์เลย copy เอามาให้อ่านครับ)

จาก Surinn
IP:58.137.12.162

พฤหัสบดีที่ , 22/2/2550
เวลา : 02:27

อ่านแล้ว = ครั้ง
 เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งตรวจสอบกระทู้
 แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน ส่งหาเพื่อน

       ที่มา : http://nonthaburi.moph.go.th/cyber/journal/tomj/v15/d1.htm

อันตรายจากคลี่นวิทยุ



นพ.ทวีทอง กออนันตกูล HS1CCU *

พญ.พงษ์ลดา สุพรรณชาติ HS1JPC **

จิระยุทธ์ รัตนศิริพรหม HS1 ***

สมชาย ผิวรุ่งสุวรรณ HS1WLM ****



* นายแพทย์ 9 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม รพ.โรคทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ

** นายแพทย์ 8 ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขารังสี รพ.โรคทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ

*** นายช่าง 5 กองช่างบำรุง

**** นายช่าง 5 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร



กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงหนึ่งที่ได้รับจัดสรรความถี่วิทยุจากกรมไปรษณีย์โทรเลขให้นำมาใช้งาน ที่ผ่านมาได้มีการนำมาใช้งานกันพอสมควร ซึ่งในช่วงระยะเวลา4 - 5 ปี ที่ผ่านมา มีการใช้เครื่องวิทยุรับส่งกันมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลนื่องจากตลาดการค้าวิทยุรับ - ส่งในบ้านเราจึงเริ่มเปิดตัว และ ขยายวงออกกว้าง(เริ่มมีวิทยุสมัครเล่นในบ้านเรา) และ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่กรมไปรษณีย์โทรเลขใด้เปิดโอกาสให้นำเครื่องวิทยุรับ - ส่งที่ไม่ถูกกฎหมายมาจดทะเบียนให้ถูกกฏหมาย

คลื่นวิทยุที่ส่งออกมาจากเครื่องวิทยุรับ - ส่ง เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง(Electromagnetic Waves) เช่นเดียวกับคลื่นเสียง คลื่นแสง รังสีเอกซ์ และ อื่นๆ แต่มีความแตกต่างกันตรงความยาวของคลื่น (Wavelength) หรือ ความถี่ของคลื่น(Frequency) (ตารางที่ 1 ) คุณสมบัติทางฟิสิคส์ และ คุณสมบัติ อื่นๆซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวใด้ทั้งหมด และ อาจมีคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ยังไม่ทราบมาก่อน

คลื่นวิทยุเป็นคลื่นที่ประกอบด้วยเส้นแรงสนามแม่เหล็ก และ เส้นแรงสนามไฟฟ้าที่ เกิดจากพลังงานกระแสสลับที่มีความถี่สูงนับตั้งแต่ 10,000 เฮิรทซ์(10 KHz) จนถึง 3,000,000,000 เฮิรทซ์(3000 MHz) คลื่นเหล่านี้มีความสามารถที่จะแผ่กระจายออกไปในอากาศได้ด้วยความเร็วประมาณ 300ล้านเมตรต่อวินาที (คุณสมบัติเหมือนกับคลื่นแสง)

ในบรรดาคลื่นวิทยุทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น เขายังแบ่งย่อยๆออกเป็นช่วงๆตามความถี่ และ คุณสมบัติเฉพาะกลุ่ม เช่น คลื่นวิทยุความถี่สูง (HF) คลื่นวิทยุความถี่สูงมาก(VHF) คลื่นวิทยุความถี่สูงยิ่ง(UHF) และ ฯลฯ. (ตารางที่ 2) คลื่นวิทยุแต่ละช่วงความถี่จะมีคุณสมบัติด้านต่างๆแตกต่างกันไป ซึ่งในบทความนี้จะเน้นเฉพาะส่วนที่มีผลต่อร่างกาย และ การดำรงชีวิต ของมนุษย์เท่านั้น



ตารางที่ 1. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ดัดแปลงจาก "การถ่ายภาพโดยการใชพลังแม่เหล็ก MRI" ศจ. นพ.กวี ทังสุบุตร วารสารรังสีวิทยาสาร ปีที่ 24 เล่ม 2 เมษายน 2530)(1)


ชนิดของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ความถี่ (HERTZ)

1. ความถี่เสียง และ คลื่นเหนือเสียง Audio and Ultrasonic 20 ถึง 2x104

2. คลื่นวิทยุ Radio Freqeuncy 104 ถึง 3x1012

3. อินฟราเรด nfrared 3x1012 ถึง 4.3x1014

4. แสงธรรมดา Visible Light 4.3x1014 ถึง 7.5x1014

5. อุลตราไวโอเลต Ultraviolet 7.5x1014 ถึง 30x1016

6. รังสีเอกซ์ และ รังสีแกมมา X - ray & Gamma ray 3x1016 ถึง 3x1018

7. รังสีเอกซ์ และ รังสีแกมมา X - ray & Gamma ray 3x1018 ถึง 3x1021

ใช้ในทางการแพทย์



ตารางที่ 2. คลื่นวิทยุย่านต่างๆ แบ่งตามความถี่ และ คุณสมบัติเฉพาะ (2)

ชนิดของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ความถี่ (HERTZ)

1. ความถี่ต่ำมาก Very Low Freq 10 - 30 KHz.

2. ความถี่ต่ำ Low Freq 30 - 300 KHz.

3. ความถี่ปานกลาง Median Freq 300 - 3000 KHz.

4. ความถี่สูง High Freq 3 - 30 MHz.

5. ความถี่สูงมาก Very High Freq 30 - 300 MHz.

6. ความถี่สูงยิ่ง Ultra High Freq 300 - 3000 MHz.

7. ความถี่สูงพิเศษ Super High Freq 3 - 30 GHz.

8. ความถี่สูงพิเศษยิ่ง Extra High Freq 30 - 300 GHz.

9. (ยังไม่มีชื่อ) 300 - 3000 GHz.

(กระทรวงสาธารณสุขใช้ความถี่ย่าน ความถี่สูง(HF)สำหรับการติดต่อระยะไกล และ ใช้ความถี่สูงมาก(VHF)สำหรับการติดต่อในระยะใกล้)

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่าน อุลตราไวโอเลต เอกซ์เรย์ และ แกมมาเรย์ นั้นมีอันตรายต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านไมโครเวฟที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ปฏิบัติงาน หรือ ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ(Cardiac Pacemaker)( ) และ เชื่อกันว่าคลื่นวิทยุย่านที่ต่ำกว่าไมโครเวฟค่อนข้างปลอดภัยต่อมนุษย์ จนกระทั่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีการสงสัยว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายได้แต่ไม่สามารถหาหนทางพิสูจน์ให้ได้แน่ชัดได้ และ ในระยะหลังๆมีผลการศึกษาจากผู้เขี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญสาขาชีวะวิทยาทางการแพทย์(Bio - Medical Expert)ให้ผลสรุปว่าสามารถทำให้เกิดอันตรายได้แม้กระทั่งจากย่านความถี่ต่ำรวมถึง60 Hertz Power Line.ด้วย

ผู้ที่ใช้เครื่องส่งวิทยุทุกท่านควรจะทราบว่า คลื่นวิทยุที่ออกมาจากเครื่องส่งนั้นอาจทำอันตรายต่อผู้ใช้เครื่อง และ ผู้ใกล้ชิดได้ ดังนั้นหากไม่ได้ศึกษา หรือ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอันตรายของคลื่นวิทยุมาก่อน ท่าน และ ผู้ใกล้ชิดท่านอาจจะเป็นผู้ที่โชคร้ายได้รับอันตรายจากคลื่นวิทยุที่ออกมาเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวกว่าจะรู้ก็สายเกินแก้เสียแล้ว ทั้งนี้เพราะอันตรายที่เกิดจากคลื่นวิทยุมี สองประเภท คือ อันตรายที่เรารู้สึกได้โดยทันที ได้แก่ ความร้อน ไฟฟ้าดูด ไฟใหม้ ปวดศีรษะ ความเครียด เป็นต้น ส่วนอันตรายที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวได้แก่ การรบกวนระบบการทำงานของร่างกายส่วนที่ไม่มีประสาทบอกความรู้สึก หรือ การรบกวนที่ละเล็กน้อยเกิดความผิดปกติขึ้นอย่างช้าๆ สะสมมากขึ้นทีละน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไปกว่าจะรูสึกตัวก็เป็นมากแล้ว เช่น เลนซ์แก้วตาขุ่นมัว(เรียกว่า ต้อกระจก หรือ Cataract) ประสาทตาถูกทำลาย(Retinal Damage) ระบบการทำงานของเซลต่างๆของมนุษย์ถูกรบกวน มะเร็งเม็ดโลหิตขาว(Leukemia) และ มะเร็งของสมอง(Brain Tumor) รวมถึงอันตรายที่ยังไม่ทราบ หรือ ยังไม่ปรากฎ เป็นต้น รายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือ หรือ ความเป็นไปได้เพียงไร แหล่งที่มาของข้อมูลน่าเชื่อถือ หรือ ไม่ จะหลีกเลี่ยงอันตรายเหล่านี้ได้อย่างไร กรุณาติดตามบทความนี้ต่อไป และ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามไปถึงต้นตอของเอกสารอันจะทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะให้ข้อมูลที่จะทำห้บทความนี้สมบูรณ์มากขึ้น ผู้เขียนได้ให้รายละเอียดของเอกสารอ้างอิงทั้งหมดใว้ในตอนท้ายของบทความนี้

พลังงานจากคลื่นวิทยุจะมีผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร ก่อให้เกิดผลเสียมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันนั้นที่จุดสัมผัส(ขนาดของพลังงานที่แพร่ออกมา และ ระยะห่างจากแหล่งพลังงาน) ความถี่ หรือ ความยาวคลื่นของคลื่นวิทยุ และ อวัยวะส่วนที่ได้รับพลังงานนั้น(แต่ละอวัยวะอาจมีผลไม่เหมือนกัน) ปัญหาที่ผู้ใช้เครื่องวิทยุรับ - ส่งจะต้องเผชิญ ได้แก่ การใช้เครื่องวิทยุรับ ส่ง ลักษณะการใช้งานแบบใช้ครั้งละนานๆ พลังงานที่ได้รับจากเครื่องส่งจะมาก หรือ น้อยเพียงไร จะมีผลต่อร่างกายอย่างไรยากที่จะชี้ชัดให้เห็น ผู้เขียนลองเปรียบเทียบกับพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านต่างๆ กับการรบกวนที่ปรากฏ เพื่อใช้เป็นแนวคิดเชิงเปรียบเทียบ

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ พลังงาน ผลที่ปรากฏเชิงเปรียบเทียบ

1. หลอดไฟฟ้าชนิดจุดใส้ ขนาด 5 วัตต์ วางไว้ - ความร้อนที่บริเวณหน้า แสงสว่างที่รบกวนตา

ที่ตำแหน่งหน้าผาก เหนือตา(เปรียบเทียบกับ -

การใช้วิทยุมือถือ)

2. วิทยุเปิดเสียงดัง 5 วัตต์ วางไว้ใกล้ๆ เสียงดังรบกวน ไม่สบายหู

(เปรียบเทียบขนาดพลังงานที่ออกมาเป็นเสียง)

3. ครื่องกายภาพบำบัดชนิดUltrasound ความร้อนบริเวณที่สัมผัส และ ส่วนที่ลึกลงไป

ขนาด 20 วัตต์( MHz.)(3)

4. เครื่องจี้เนื้อสำหรับผ่าตัด 5 วัตต์ ผิวหนังแยกออกเป็นแผลเหมือนกับการใช้มีด

(RF Energy 400 KHz.)(4)

5. เครื่องกายภาพบำบัดชนิดคลื่นสั้น ความร้อนบริเวณที่สัมผัส และ ส่วนที่ลึกลงไป

(RF Energy MHz.)(3) CPUของวิทยุมือถือ02Nเสีย(เกิดขึ้น2ครั้ง)(3)

6. พูดวิทยุมือถือ 144MHz. 5 Watt ร้อนบริเวณหน้า ปวดศีรษะ ตามัว(7,11)

นาน10นาที

7. การแผ่กระจายคลื่นไมโครเวฟ อัตราการเต้นของหัวใจอ่อนลง (7)

(ไม่บอกรายละเอียด) ตามัวเลนซ์ตาขุ่น ประสาทตาถูกทำลาย(6)

รบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ( )

8. เตาอบไมโครเวพ น้ำเดือด ไก่สุก ฯลฯ.

9. แสงแดด ผิวหนังร้อน ทำปฏิกิริยากับเกลือเงิน(ใช้ในการถ่าย ภาพ)

10. แสงอุลตราไวโอเลต ทำลายประสาทตา ทำให้เชื้อโรคตาย

ลบหน่วยความจำถาวรชนิดEPROM

11. รังสีเอกซ์ ทะลุทะลวงเนื้อเยื่อไปทำปฏิกิริยากับเกลือเงินได้

(ใช้ในการถ่ายภาพเอกซ์เรย์)

ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครโมโซม

จากตัวอย่างที่ยกมาเทียบเคียงคงจะทำให้ท่านผู้อ่านพอที่จะคาดคะเนได้ว่า พลังงานจากคลื่นวิทยุที่ออกมานั้นน่าจะมีอันตรายมากน้อยเพียงไร โดยความเห็นของผู้เขียนเชื่อแน่ว่ามีผลต่อร่างกายแน่นอน และ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คลื่นวิทยุที่ไม่จำเป็น

ผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านคลื่นวิทยุต่อร่างกายมนุษย์ที่เป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปมานานแล้วคือ ผลของพลังงานที่ทำให้เกิดความร้อน(เช่นเดียวกับคุณสมบัติของคลื่นอินฟราเรด คลื่นแสง เมื่อมนุษย์ได้รับพลังงานจากคลื่นวิทยุจากเครื่องวิทยุมือถือ หรือ ได้รับจากการแผ่กระจายออกมานอกสายนำสัญญาณโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือ ได้รับออกมาจากตัวเครื่องวิทยุเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องวิทยุที่ไม่ได้ปิดฝาขณะทำการซ่อม หรือ ปรับแต่ง หรือ ได้รับจากการแพร่กระจายออกมาจากเสาอากาศที่ติดตั้งภายนอกโดยการเข้าไปใกล้ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาอากาศที่มีอัตราการขยายสูงๆ จะทำให้อวัยวะของร่างกายเกิดความร้อนขึ้นได้

เคยมีรายงานการใช้คลื่นวิทยุความถี่ 27 MHz. ทำให้เกิดความร้อนต่อ์ส่วนที่เป็นมะเร็ง ควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นใว้ไม่ให้เกิน 50 องศา เซลมะเร็งจะคายความร้อนได้ช้ากว่าเซลปกติที่ไม่เป็นมะเร็ง ทำให้เซลมะเร็งตาย(x1) ่วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาซึ่งในเวลาต่อมาไม่พบมีรายงานการใช้วิธีนี้ในการรักษามะเร็งอีกจนถึงปัจจุบัน

การที่คลื่นวิทยุทำให้เกิดความร้อนที่ร่างกาย อวัยวะที่ควรระวังอย่างยิ่งก็คือเลนซ์แก้วตาของตวงตาซึ่งมีลักษณะเป็นโปรตีนคล้ายไข่ขาว หากได้รับความร้อนเป็นปริมาณมากก็จะกลายเป็นไข่ขาวสุกที่มีความขุ่นไม่อ่อนตัว หากได้รับความร้อนเป็นปริมาณไม่มากแต่เป็นเวลานานก็จะเกิดผลคล้ายๆกัน แต่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลาหลายๆเดือน ซึ่งยากที่จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เช่น อาจสังเกตพบว่าความสามารถในการมองในที่สลัวๆด้อยลงเรื่อยๆ การที่เลนซ์แก้วตาของตวงตาขุ่น มัว เรียกว่า ต้อกระจก(Cataract)

ในสมัยก่อนมีการกำหนดมาตราฐานกันว่า ขนาดพลังงานที่มนุษย์สามารถรับได้โดยไม่เกิดอันตรายคือ 10 mW/Cm2 เป็นเวลาติดต่อกันนาน 6 นาที่ แต่ในสมัยต่อมา American National Standards Institute (ANSI) ได้ออกรายงานมาตราฐานเกี่ยวกับExposure Standardใหม่ โดยค่าที่จำกัดจะไม่เท่ากันในแต่ละย่านความถี่ โดยยังคงใช้เวลาexposeนาน 6 นาทีเหมือนมาตราฐานเก่า (กราฟรูปที่ 1)









กราฟรูป 1














จากข้อมูลที่นำเสนอใหม่ของ ANSI บ่งบอกว่าคลื่นย่านVHF และ UHF มีผลต่อร่างกายมากกว่าที่ความเข้มของพลังงานเท่ากัน เหตุผลที่แน่นอนไม่ได้รายงานใว้เข้าใจว่าจะคล้ายกับเรื่องเรโซแนนท์ของสายอากาศ ซึ่งทำให้เชื่อว่าความยาวของร่างกายมนุษย์(ความสูง)ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมากน้อยในการที่จะรับพลังงานจากคลื่นวิทยุความถี่เดียวกัน กล่าวคือในสิ่งแวดล้อมที่มีคลื่นวิทยุอันเดียวกันคนที่มีความสูงขนาดหนึ่งจะสามารถรับพลังงานจากคลื่นวิทยุเข้าไปได้ไม่เท่ากับคนที่มีความสูงอีกขนาดหนึ่ง(5,7) ข้อแตกต่างจะมีตรงที่ว่าความยาวที่จะสามารถรับคลื่นวิทยุได้ดีได้มากที่สุดคือความยาวเท่ากับ 0.4 แลมดาของคลื่นวิทยุนั้น ซึ่งในย่านความถี่ของกระทรวงสาธารณสุขเรา ความยาวนี้จะเท่ากับ 77.4 ซม.(ใกล้เคียงกับความสูงของเด็ก) ดังนั้นจึงควรที่จะห้ามเด็กๆไปอยู่ใกล้กับเครื่องวิทยุ เสาอากาศ และ สายนำสัญญาณ สำหรับความถี่ที่พอดีกับคนที่มีความสูง175ซม.คือความถี่ 68 MHz.ซึ่งเป็นความถี่ย่านVHFเช่นกัน

ข้อมูลมาตราฐานของANSIยังไม่เป็นที่ยอมรับกันสำหรับนักวิชาการบางกลุ่มเพราะเห็นว่าเป็นการกำหนดที่สูงเกินไปเนื่องจากเป็นการศึกษาเรื่องผลของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งความจริงแล้วจากการศึกษาที่ลงลึกไปพบว่าผลต่อเนื้อเยื่ออันเนื่องมาจากคลื่นวิทยุไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สมารถตรวจวัดได้แต่เพียงอย่างเดียว(7) ซึ่งจะเห็นได้จากการกำหนดมาตราฐานของAustralia, Sweden และ ในบางรัฐของอเมริกาซึ่งให้ค่ามาตราฐานของระดับความปลอดภัย ต่ำกว่าที่ANSIกำหนดใว้

ในระยะหลังๆได้มีการศึกษาผลของคลื่นวิทยุต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระดับที่มากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ได้แก่ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลของร่างกาย** ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในร่างกาย และ ศึกษาถึงระดับโมเลกุล อะตอม เท่าที่ค้นคว้ามาได้มีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้

ผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีต่อประจุของอะตอม และ โมเลกุล มี 2 แบบ

1. Ionizing Radiation

2. Non Ionizing Radiation

ผลแบบIonizing Radiation คือ การที่พลังงานที่แผ่กระจายออกมามีความสามารถในการที่จะขับอีเลคตรอน ให้หลุดออกไปจากอะตอม ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเซลของสิ่งมีชีวิตจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนั้น เพราะเป็นการรบกวนสิ่งที่ประกอบกันเป็นส่วนประกอบของเซล เช่น หากมีการรบกวนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโปรตีนในเซลที่ประกอบกันเป็นDNA จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม(เปลี่ยนพันธ์ไป ไม่เหมือนลักษณะของเซลเดิม) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้แก่ คลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นมาก ความถี่สูง และ มีHigh Energy Level ได้แก่ เอกซ์เรย์ แกมมมาเรย์ เป้นต้น

ผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบNon Ionizing Radiation คือ ผลของพลังงานที่ไม่สามารถทำให้อะ ตอมแตกตัวได้ การแพร่กระจายเช่นนี้ไม่มีผลต่ออะตอม หรือ โมเลกุลใหญ่ แต่จะมีผลต่อการทำงานของระดับเซลของสิ่งที่มีชีวิต เช่น ไปรบกวน เปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมน ระบบเอนซัย์ม และ ระบบควบคุมการประสานงาน ระหว่าง เซลของสิ่งมีชีวิต คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้แก่คลื่นที่มีความยาวคลื่นมากกว่า มีความถี่น้อยกว่า และ มีLower Energy Level เช่น คลื่นวิทยุ รังสีอินฟราเรด เป็นต้น

Adey 1981(8) ศึกษาผลของ Non Ionizing Radiation จากสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดในคน พบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวมีผลต่อเซลของร่างกายโดยไปรบกวนการทำงานของเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการประสานงานการทำงาน ระหว่าง เซล ทำให้มีผลต่อร่างกาย แต่อาจจะไม่สามารถรู้สึกได้ว่าได้เริ่มเกิดอันตรายขึ้นแล้ว นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาเพิ่มเติมโดยทำการเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดที่ไม่ได้Modulate(เปรียง่ายๆเหมือนกับการส่งวิทยุที่ไม่มีเสียงพูด หรือ เท่ากับ การส่งCarrier) กับ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกModulateมาแล้ว(เปรียบเหมือนกับการส่งวิทยุที่มีเสียงพูด) ผลการศึกษาพบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกModulateมาแล้วจะสามารถรบกวนการทำงานของเซลได้มากกว่า

ในปีคศ.1988 Adey(12) รายงานผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดน้อยๆกับผลการรบกวนการทำงานของเซลที่เกี่ยวข้องกับแคลเซียม และ สารประกอบที่มีแคลเซียมในร่างกาย พบว่าการเคลื่อนย้ายแคลเซียม และ สารประกอบผ่านเข้าไปในเซล หรือ ออกมาจากเซลเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะปกติ และ การเปลี่ยนแปลงนี้มีความแตกต่างไปตามความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความถี่ย่านVHF และ UHF ที่มีความถี่Carrier 147MHz. และ 450MHz. เมื่อถูกModulateด้วยความถี่ย่านELF ความถี่ 16Hz. 40Hz. 60Hz. จะมีผลต่อชีวะวิทยาของเซลอย่างมีนัยสำคัญ(13)

Lyle 1983(14) 1988(15) ค้นพบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้มีการรบกวนต่อระบบภูมิคุ้มกันภัยของร่างกายทำให้ระบบป้องกันภัยของร่างกายทำงานลดน้อยลง โดยไปรบกวนการทำงานของเซลเม็ดเลือดขาวในร่างกาย เซลเม็ดเลือดขาวนี้เรียกว่า T - Lymphocyte ซึ่งเป็นเซลที่ทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และ กำจัดเซลมะเร็ง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับงานนี้เป็น High Voltage Power Field และ Weak Microwave Field ซึ่งถูกModulateด้วยคลื่น60Hz. แบบAM

ผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแง่ของการทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ได้ข้อมูลพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

ในปีคศ.1979 Wertheimer(16) รายงานการตายของเด็กเนื่องจากมะเร็งบางชนิด สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นไฟฟ้าสลับ60Hz.ที่มีกระแสไฟปริมาณมากผ่าน และ อีกสามปีต่อมาเขาได้รายงานผู้ป่วยแบบเดียวกันแต่เป็นในผู้ใหญ่ และ ในปีคศ.1988 Salviz(17) ก็มีรายงานคล้ายกันเพื่อสนับสนุนในเรื่องนี้

Milham 1982 และ Wright 1982 รายงานในวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษที่ชื่อว่า New England Journal Medicine(9) และ Lancet(10) กล่าวถึงการพบมะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia)มากในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ Magnetic และ Electric Field และ ในเวลาต่อมามีข้อมูลเพิ่มเติมจาก Mc Dowell 1983(18) และ Coleman 1983(19) ซึ่งลงในวารสารการแพทย์ Lancet ได้ข้อสรุปว่าพวกที่ทำงานเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวสูงกว่า ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลมาจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

จากรายงานของคุณหมอShulman(6) ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสารQST ีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับคลื่นวิทยุจนทำให้เลนซ์ตาขุ่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ในระยะแรกจะสังเกตได้ยาก อาจจะพบแต่เพียงว่าต้องใช้แสงสว่างในการอ่านหนังสือ หรือ ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ระยะต่อมาอาจเริ่มสังเกตพบว่าตามัวคล้ายหมอกจางๆในบางครั้ง ระยะต่อมาอาจเริ่มสังเกตเห็นความขุ่นปรากฏที่เลนซ์แก้วตา(Cataract) ระยะต่อมาความฝ้ามัวมากขึ้นๆจนรบกวนการมองเห็นตามปกติ ในทางการแพทย์หากเลนซ์ขุ่นมากแล้วจักษุแพทย์จะควักเอาเลนซ์อันนั้นออกมา เพราะหากปล่อยเนิ่นนานไปจะมีผลให้ประสาทตาข้างนั้นเสื่อมสภาพไป ที่ร้ายไปกว่านี้คุณหมอยังมีรายงานรายที่เป็นอันตรายต่อดวงตาขั้นรุนแรง กล่าวคือ พลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้สามารถทำให้ประสามรับภาพในลูกตาเสียได้ ผลก็คือไม่สามารถมองเห็นอะไรได้อีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากคลื่นวิทยุย่านไมโครเวฟกำลังสูง มีผู้ทำการศึกษาการดูดซับพลังงานของอวัยวะต่างๆในผู้ที่ใช้เครื่องวิทยุมือถือ กำลังส่ง 1 วัตต์ ใช้เสาอากาศชนิดเสาชักขนาดครึ่งความยาวคลื่น(1/2 แลมดา) เทียบกับเสาอา กาศขนาด 5/8 แลมดา ผลปรากฏว่าหากใช้เสาอากาศชนิด1/2แลมดาจุดที่รับพลังงานมากทีสุดที่เรียกว่าจุดHot Spotจะอยู่ที่ตำแหน่งของดวงตา และ หากใช้เสาอากาศชนิด5/8แลมดา จุดนี้จะอยู่ที่สมอง และ หน้าผาก (การทดลองนี้ใช้เครื่องเซลลูล่า 800 MHz.)(6) นอกจากนี้ในรายงานนี้ยังกล่าวถึงรายงานผู้ป่วยที่แท้งบุตรซึ่งสงสัยว่าจะเป็นผลจากการใช้ผ้าห่มไฟฟ้า(Electric Blanket) และ รายงานผู้ป่วย 2 รายที่เป็นมะเร็งของสมอง(Brain Tumor) ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับคลื่นวิทยุย่านไมโครเวฟ จากรายงานดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าคลื่นวิทยุย่านไมโครเวฟก่อปัญหาไม่น้อย แม่บ้านสมัยใหม่ในยุคนี้จำนวนมากนิยมใช้เครื่องเตาอบไมโครเวฟช่วยงานสารพัดอย่าง นับตั้งแต่การปรุงอาหาร ทำขนม อุ่นอาหาร ทำน้ำให้เดือด อุ่นขวดนมให้ลูก ฯลฯ. หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ใช้เครื่องดังกล่าวก็ควรที่จะระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวท่าน นับตั้งแต่การเลือกหาซื้อเครื่อง ควรจะซื้อเครื่องที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยสูง เช่น มีคลื่นวิทยุออกมาภาย นอกน้อย โดยเฉพาะทางด้านหน้าของเครื่อง หากไม่มั่นใจว่าได้มีการตรวจคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ก็ควรเลือกซื้อเครื่องที่มียี่ห้อที่เชื่อถือได้เอาไว้ก่อน การใช้เครื่องก็ควรใช้อย่างระมัดระวังเมื่อเครื่องชำรุดก็ควรให้ช่างที่มีความรู้ชำนาญในด้านนี้ซ่อม ฯลฯ.

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบผลของอำนาจสนามแม่เหล็กที่คาดไม่ถึงมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยการใช้สนามแม่เหล็กร่วมกับคลื่นวิทยุในการที่จะสร้างภาพอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย คล้ายๆกับการเอกซ์เรย์ แต่ให้รายละเอียดของภาพไปในอีกแนวหนึ่งตามคุณสมบัติของแม่เหล็กของนิวเคลียสของส่วนต่างๆของร่างกายที่เรียกกันว่า Nuclear Magnetic Resonance (NMR)(1) ผลที่ค้นพบนี้เป็นประโยชน์อันหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ยังไม่เคยทราบมาก่อน และ ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน ในประเทศไทยก็มีเครื่องมือดังกล่าวใช้หลายแห่งแล้วส่วนใหญ่เป็นสถาบันเอกชน(เครื่องราคาแพง) และ จากการศึกษามาเป็นเวลาหลายปีจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบอันตรายที่เกิดขึ้นจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับสนามแม่เหล็กที่นำมาใช้โดยวิธีนี้ การค้นพบในเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกให้ทราบว่ายังคงมีผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกายอันเนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอีกหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่ทราบ หรือ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด

จะเห็นได้ว่าคลื่นวิทยุก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไม่น้อย และ คงมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่ปรากฏให้เห็นในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบ้านเราที่มีผู้ใช้เครื่องส่งวิทยุเพิ่มปริมาณมาขึ้นอย่างรวดเร็ว และ มี การใช้กันอย่างแพร่หลาย การพูดคุยกันแต่ละครั้งยาวนาน ใช้กำลังวัตต์ออกอากาศสูง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปอย่างชั่วคราวแล้วกลับเป็นปกติ หรือ อาจเป็นไปอย่างถาวรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับไปอย่างเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับคลื่นวิทยุเป็นเวลานาน ซ้ำๆกันบ่อยๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจปรากฏออกมาให้เห็นเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เป็นโรคทางจิตใจ เปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของร่างกาย หรือ ฯลฯ. รวมถึงอันตรายจากคลื่นวิทยุที่เรายังศึกษาไม่พบ หรือ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในเวลานี้ อาจจะพบได้ในอนาคตซึ่งไม่มีใครทราบได้ โดยอาจจะปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆที่เราคาดไม่ถึง จากข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าคลื่นวิทยุที่ส่งออกมามีผลต่อการทำงานของร่างกายไม่มากก็น้อย ผู้เขียนยอมรับว่าการติดต่อสื่อสารทางวิทยุมีประโยชน์อย่างยิ่งหากนำไปใช้ให้ถูกทางถูกวิธี ผู้ใช้เครื่องควรจะถามตัวเองอยู่เสมอว่าการใช้ในลักษณะที่ใช้อยู่นั้นเป็นการใช้ความถี่วิทยุให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ากับตัวท่านเอง และ ผู้อื่น หรือ ไม่ หลักของการใช้วิทยุรับ - ส่งให้เกิดอันตรายน้อยที่สุดมีเขียนไว้ในหนังสือมาตราฐานของนักวิทยุหลายเล่ม ผู้เขียนขอนำมาเสนอให้พิจาราณาในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ

หลีกเลี่ยงการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นวิทยุโดยไม่จำเป็น ควรหลีกห่างจากอุปกรณ์พวก์ที่มี่การแพร่กระจายคลื่นวิทยุออกมา ได้แก่ เสาอากาศ สายนำสัญญาณ เครื่องส่งวิทยุ เครื่องขยายกำลังส่ง และ แหล่งจ่ายไฟ เป็นต้น

เสาอากาศ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการปล่อยคลื่นวิทยุออกมาในอากาศ พลังงานเกือบทั้งหมดที่ออกมาจากเครื่องส่งวิทยุจะมาออกที่จุดนี้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้เสาอากาศไม่ว่าจะเป็นเสาอากาศของสถานีส่งวิทยุกระจายเสียง สถานีส่งวิทยุกำลังสูง เสาอากาศที่ติดตามอาคาร เสาอากาศติดตั้งที่รถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาที่มีอัตราการขยายสูงๆ Bandwidthแคบๆ เสาพาราโบลอยด์ ซึ่งจะมีพลังงานที่ส่งออกมาในทิศทางนั้นมากกว่าเสารอบตัวหลายสิบเท่า จะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย

ในกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้เครื่องวิทยุรับส่ง อาจจะเกิดอันตรายขั้นโดยไม่คาดคิด เช่น การเข้าไปอยู่ใกล้เสาอากาศรถยนต์ เสาอากาศประจำที่โดยไม่ทราบว่าขณะนั้นมีการส่งออกอากาศ เคยมีตัวอย่างที่เกิดการใหม้ที่ผิวหนังจากการสัมผัส(rast) เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายชั่วโมงจากการยืนใกล้เสารถยนต์ที่ส่งออกอากาศด้วยกำลังส่ง 10 วัตต์(ch) อาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลที่นั่งที่เบาะหลังในรถยนต์ที่ติดตั้งวิทยุรับส่งย่านVHF หรือ UHF เสาอากาศอยู่ที่กระโปรงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก (x) มีรายงานแนะนำว่าไม่ควรยืนชิดเสาอากาศรถยนต์ในช่วงระยะ 60 ซม. (rast) ในกรณีของแถบคลื่นย่านHF VHF ห้ามอยู่ใกล้เสาอากาศชิดกว่า 10 - 15 ฟุต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเสา Vertical Monopole ที่มีการส่งออกอากาศแบบติดต่อกัน ด้วยกำลังส่งสูง(High Power, Non Intermittent)( ) ในกรณีของคลื่นวิทยุแถบUHF และ SHF การมองเข้าไปที่ปลายเสาอากาศทิศทาง หรือ Waveguide ในทิศทางที่คลื่นออกมาจะเป็นอันตรายได้

สำหรับกรณีที่ท่านเป็นผู้ใช้เครื่องเอง ควรที่จะใช้เครื่องส่งให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และ หากจะใช้ควรใช้กำลังส่งน้อยที่สุดที่จะติดต่อกันได้ และ แต่ละครั้งที่กดkEY ออกอากาศ ควรกดเป็นช่วงๆสั้นๆ ตรงกับหลักสากลของนักวิทยุสมัครเล่นที่ว่า ฟังมากๆ - พูดน้อยๆ - พูดสั้นๆ - วัตต์ต่ำๆ การที่ส่งออกอากาศช่วงสั้นๆ กำลังส่งน้อยๆ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อตัวท่านเองในแง่ที่จะได้รับคลื่นวิทยุน้อยแล้วยังมีประโยชน์ต่อผู้อื่นอีกด้วย กล่าวคือทำให้ช่องความถี่ว่างให้ผู้อื่นใด้ใช้ประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีเรื่องฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือรีบด่วน ท่านผู้อ่านที่เคยมอนิเตอร์ช่องความถี่ของกระทรวงอยู่บ่อยๆคงจะไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำใด้ที่ช่องใด จะทำสำเร็จ หรือ ไม่ เพราะยังไม่มีกฎเกณฑ์สำหรับข้าราชการทั่วไป และ บางครั้งเรียกเข้าไปก็ไม่ตอบ

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือถือเสายาง หรือ เสาชัก เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ใช้จะต้องอยู่ใกล้(ชิด)กับเสาอากาศเวลากดส่งออกอากาศ เสาอากาศจะอยู่ใกล้กับศีรษะส่วนตา และ หน้าผาก(สมอง) นอกจากจะพยายามใช้กำลังส่งออกให้น้อยที่สุดแล้ว ควรจะพูดเป็นช่วงสั้นๆ เวลาพูดควรจะถือเครื่องให้ห่างจากศีรษะมากพอสมควร โดยการถือเครื่องให้ห่างจากศัรษะอย่างน้อย 1 นิ้ว(ARRL ) หรือ 1 - 2 นิ้ว( RAST) หรือ 2 นิ้ว(MOTO) บางแห่งแนะนำให้ห่างออกไปถึง 6 นิ้ว ( ) ไม่มีเลยซักเล่มที่แนะนำให้ปากติดกับไมค์แบบที่หลายๆคนนิยมทำกัน การถือเครื่องแนะนำให้ถือในแนวดิ่ง(คู่มือโมโตโรลลา) หรือ ถือเครื่องให้เอนออกไปด้านหน้า 45 องศา โดยให้ส่วนเสาอากาศห่างศีรษะมากที่สุด ส่วน Microphone ใกล้กับปากให้พูดใด้ยิน

การใช้เสาอากาศที่มีอัตราการขยายสูง ห้ามใช้เสาอากาศชึ้ไปยังผู้คน เพราะอาจทำอันตรายต่อผู้นั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้เครื่องส่งกำลังส่งสูงหลายร้อยวัตต์

สายนำสัญญาณ (Transmission Line) สายนำสัญญาณเป็นส่วนที่เชื่อมต่อ ระหว่าง เครื่องส่งวิทยุกับเสาอากาศ เพื่อทำหน้าที่ส่งพลังงานทั้งหมดไปที่เสาอากาศ เพื่อให้ผู้ใช้เครื่องส่งไม่ต้องอยู่ใกล้กับเสาอากาศ โดยปกติแล้วสายนำสัญญาณไม่ควรที่จะมีการแพร่กระจายคลื่นออกมา แต่หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเชื่อมต่อสายอากาศชนิดต่างๆกับสายนำสัญญาณ รวมถึงวิธีการลดการแพร่กระจายโดยรอบสายนำสัญญาณ ท่านก็อาจจะทำให้เกิดมีการแพร่กระจายของคลื่นวิทยุออกมาโดยรอบสายนำสัญญาณโดยที่ท่านเองก็ไม่ทราบ เช่น การต่อสายโคแอกเซียลเข้ากับเสาGroundPlane, การต่อสายโคแอกเซียลเข้ากับเสาอากาศแบบบาลานซ์ เป็นต้น รายละเอียดในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาก่อนที่จะใช้ (ตัวอย่างในเรื่องนี้ ศีกษาจากรายงาน ของ HS1CH ( ) และ จากเรื่องMatching Stub หรือ Balun จากหนังสือมาตราฐานทั่วๆไป)

ตัวเครื่องส่งวิทยุเองก็อาจจะมีคลื่นวิทยุรั่วออกมาภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเปิดฝาเครื่องเอาไว่เพื่อซ่อม ทดลอง ปรับแต่ง ซึ่งช่างซ่อมจะต้องระวัง และ ป้องกันให้ดี ขณะทำการปรับแต่ง หรือ ทดลอง ในกรณีที่มีการใช้Booster หรือ Linear Amp เพื่อเพิ่มกำลังส่ง จะต้องระวังมากขึ้นเพราะจะมีคลื่นวิทยุออกมามาก การสร้างเครื่องเพิ่มกำลังส่งขึ้นใช้เองนอกจากจะผิดกฏหมายแล้ว ท่านอาจได้รับอันตรายจากการปรับแต่ง หรือ การที่คลื่นรั่วออกมาภายนอกเนื่องจากไม่มีShield หรือ Shieldไม่ดีพอ และ ที่ร้ายที่สุดท่านอาจได้รับสารพิษที่ใช้เป็นส่วนประกอบในตัวRFPower Transistorได้ (หากมีโอกาสจะนำ เสนอต่อไป)

อันตรายอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะได้รับจากการใช้เครื่องวิทยุรับส่งคือ อันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระแสสลับ 50 Hz.จากไฟฟ้าบ้าน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้High Current ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ใช้ควรหลีกห่างอุปกรณ์AC เช่น Power Supply หรือ หม้อแปลงไฟฟ้า

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนให้ผู้ใช้วิทยุรับส่งมีความรู้เพิ่มขึ้น และ ได้นำไปประยุกต์ใช้งานให้ท่าน และ ผู้ใกล้ชิดรอดพ้นจากอันตรายจากคลื่นวิทยุ หรือ ได้รับน้อยที่สุด ผู้เขียนขอสนับสนุนหลักการฟังให้มาก ส่งออกน้อยๆวัตต์เป็นช่วงสั้นๆเท่าที่จำเป็น และ คุ้มประโยชน์ อยากจะให้มีการใช้คลื่นวิทยุให้เกิดประโยชน์เต็มที่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีทุกข์ในยามรีบด่วน ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกส่วนใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง



เอกสารอ้างอิง

1. ศจ.นพ.กวี ทังสุบุตร. การถ่ายภาพโดยใช้พลังแม่เหล็กMRI. รังสิวิทยาสาร 2530; ปีที่ 24 เล่มที่ 2 : 8 - 12.

2. พตต.สุชาติ เผือกสกนธ์. ประมวลความรู้พื้นฐานสำหรับนักวิทยุอาสาสมัคร. 2528; นำอักษรการพิมพ์. กทม. : 5 ธันวาคม 2528.

3. VR 2601. ข้อมูลจากการปฏิบัติงานทางกายภาพบำบัด. โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด.

4. HS1CCU. ข้อมูลจากการปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดปอด และ หัวใจ. โรงพยาบาลโรคทรวงอก นนทบุรี.

5. Mark J.Wilson, AA2Z. ARRL Handbook 1987; 64Th Edition .

6. Ivan A.Shulman,MD,WC2S. Is Amateur Radio Hazardous to our Health ?. QST 1989; October: 31 - 34.

7. บรรเจิด ตันติกัลยาภรณ์. อันตรายจากคลื่นวิทยุ!. เครื่องรับส่ง 2534; เล่ม 6: 77 - 82.

8. Adey W.R. Tissue Interactions with nonionizing elcetromagnetic fields. Physiol Rev. 1981; 61: 435 - 513.

9. Milham S. Mortality from leukemia in workers exposed to electrical and magnetic fields. (Letter) N Engl J Med 1982; 307: 249.

10.Wright W.E., Peters J.M., Mack T.M. Leukemia in workers exposed to electrical and magnetic fields. (Letter) Lancet 1982; 2: 1160 - 71.

11. VR092. CQ . เซมิ ฉบับที่ 69, กพ. - มีนา. 2529.

12.Adey W.R. Cell Membranes: the electromagnetic environment and cancer promotion. Neurochem Res 1988; 18:671 - 677.

13.Byus C.V., Lundak R.L., Fletcher R.M., Adey W.R. Alterations in protein kinase activities following exposure of cultured human lymphocytes to modulated microwave fields. Bioelectromagnetics 1984; 5: 341 - 351.

14. Lyle D.B., Schechter P., Adey W.R., Lundak R.L. Suppression of T - lymphocyte cytotoxicity following exposure to sinusoidally amplitude modulated fields. Bioelectromagnetics 1983; 4: 281 - 292.

15. Lyle D.B., Ayotte R.D., Sheppard A.R., Adey W.R. Suppression of lymphocyte cytotoxicity following exposure to 60 Hz. sinusoidal electric fields. Bioelectromagnetics 1988; 9: 303 - 13

16. Wertheimer N., Leeper E. Electrical wiring configuration and childhood cancer. Am J Epidemiol 1979; 109: 273 - 84.

17. Savitz D.A., Wachtel H., Barnes F.A., John E., Tvrdik J.G. Case - control study of childhood cancer and exposure to 60 Hz. magnetic fields. Am J Epidimiol 1988; 128: 21 - 38.

18. McDowall M.E. Leukemia in electrical workers in England and Wales. (Letter) Lancet 1983; 1: 246.

19. Coleman M., Bell J., Skeet R. Leukemia incidence in electrical workers. (Letter) Lancet 1988, 1: 982 - 83.

20. ทำเนียบรายชื่อนักวิทยุสมัครเล่นไทย 2533.สมาคมนักวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย(RAST.)

21. James B.Brinton : Rf used to fight cancer. Electronics 1979; April: 88 - 90.

22. Joseph J.Carr.K4IPV. Is Your Hobby Hazardous to your health. Popular Electronics 1990; February: 94 - 95.

23. สมชาย ผิวรุ่งสุวรรณ ภัยจากการใช้วิทยุรับส่ง เซมิคอน



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

แจ้งเพื่อเก็บขึ้นกระทู้พิเศษ คลิ๊กที่นี่แจ้งเพื่อนำขึ้นกระทู้พิเศษ

คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  

คำตอบที่ 1
      



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

allband จาก ALLBand 58.8.84.30 พฤหัสบดี, 22/2/2550 เวลา : 08:51  IP : 58.8.84.30   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 9082

คำตอบที่ 2
       ไม่เข้าใจขอสรุป ผมจะช่วยบอกเพราะผมเป็นวิศวะ



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

จาก ALLBand 118.174.128.32 พฤหัสบดี, 6/8/2552 เวลา : 20:38  IP : 118.174.128.32   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 14911

คำตอบที่ 3
       ไม่เข้าใจขอสรุป ผมจะช่วยบอกเพราะผมเป็นวิศวะ



 แสดงความคิดเห็นย่อย แสดงความคิดเห็นย่อย

จาก Bon2/2 52 118.174.128.32 พฤหัสบดี, 6/8/2552 เวลา : 20:40  IP : 118.174.128.32   

edit แก้ไขคำตอบ   delete ลบคำตอบ 14912

      

คำตอบแบ่งหน้าละ 30 คำตอบ ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 จาก >>> 1  



website รองรับการใช้งานทุกระบบปฏิบัติการของ PC Tablet SmartPhone ทุกระบบสามารถโพสข้อความและรูปภาพได้โดยไม่ต้องย่อไฟล์
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ website WeekendHobby.Com สมาชิก เท่านั้น จึงจะตั้งกระทู้ หรือ ตอบกระทู้ได้ครับ
Login Click ที่นี่
สมัครสมาชิก Click ที่นี่



Since 22, Feb 2001 hit counter View My Stats  Truehits.net      วันศุกร์,26 เมษายน 2567 (Online 4824 คน)